ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการที่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง พร้อมกำชับให้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังให้หมดไป โดยขณะนี้พบว่าในบางพื้นที่ยังมีเกษตรกรบางรายที่พบการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลง แต่ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงต้องชี้แจงข้อมูลเน้นหนักถึงขั้นตอนการดำเนินงาน และประโยชน์ที่เกษตรกรและประเทศชาติจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ คือ ภาครัฐจะดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยการเข้าทำลายพื้นที่พบโรคใบด่างมันสำปะหลังและจ่ายค่าชดเชยการทำลายให้กับเกษตรกรหลังตรวจสอบผลการทำลายไปแล้ว 30 วัน การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ท่อนพันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรค โดยจะสนับสนุนท่อนพันธุ์ จำนวนไร่ละ 500 ลำ รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 สำหรับเกษตรกรเจ้าของแปลงที่พบโรคเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อการเข้าร่วมโครงการต่อไป
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ผลการดำเนินการล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564) จากการสำรวจพื้นที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ พบพื้นที่ระบาด 187,508.81 ไร่ ใน 27 จังหวัด คือ จังหวัดกาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ลพบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สุรินทร์ อุทัยธานี อุดรธานี และอุตรดิตถ์ โดยมีเกษตรกรสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 6,174 ราย พื้นที่ 59,227.19 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่ทำลายแล้ว 1,158.71 ไร่ (คิดเป็น ร้อยละ 0.62 ของพื้นที่ระบาด) และพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการทำลาย 58,068.48 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 30.97 ของพื้นที่ระบาด)
ทั้งนี้ จากการสำรวจการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังในจังหวัดสระแก้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564) พบมีการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังถึง 54,392.25 ไร่ แม้ว่าจะมีปริมาณการระบาดค่อนข้างสูง แต่เป็นจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือกับเกษตรกร ภายหลังจากการให้ข้อมูล วิธีดำเนินการ และรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการฯ รวมไปถึงความรู้เกี่ยวกับโรคใบด่างมันสำปะหลัง การป้องกันกำจัด มาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการใช้พันธุ์มันสำปะหลัง ทนทานโรค เกษตรกรให้ความสนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 50,391 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 92.64
นอกจากนี้สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ ในพื้นที่เป้าหมายได้ลงพื้นที่สำรวจแปลงพันธุ์สะอาด ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ทนทานต่อโรคใบด่าง โดยแปลงพันธุ์สะอาดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมส่งเสริมการเกษตรนั้นจะต้องไม่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง หรือห่างจากพื้นที่ที่พบการระบาดไม่น้อยกว่า 6 กิโลเมตร และต้องปลูกพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ทนทาน ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และระยอง 90 และพันธุ์อื่น ๆ ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการใน การเข้าร่วมโครงการได้ มีเกษตรกรสนใจสมัครเข้าร่วมแปลงพันธุ์สะอาดแล้วรวม พื้นที่ 2,331.46 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564) และคาดว่าจะมีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ทนทานโรคใบด่างสนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อร่วมกันผลิตท่อนพันธุ์ทนทานโรคใบด่างได้เพียงพอกับความต้องการ
หากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสนใจเข้าร่วมโครงการ หรือมีข้อสอบถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยชุมชน โทร02-955-1626 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัดใกล้บ้านท่าน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม