นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกมะยงชิดในจังหวัดรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ เพื่อพัฒนาตามหลักการของระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ส่งผลให้ปัจจุบันจังหวัดนครนายกมีแปลงใหญ่มะยงชิด จำนวนทั้งสิ้น 6 แปลง เกษตรกรสมาชิก 283 ราย พื้นที่ 1,389.25 ไร่ ซึ่งผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า แปลงใหญ่มะยงชิดทั้งหมด สามารถลดต้นทุนและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกแปลง หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนแปลงใหญ่มะยงชิดทั้งหมด ได้แก่ แปลงใหญ่มะยงชิด ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนครนายก ซึ่งเข้าร่วมโครงการปี 2561 เกษตรกร 75 ราย ลดต้นทุนได้ร้อยละ 20 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 แปลงใหญ่มะยงชิด ตำบลดงละคร อำเภอเมืองนครนายก เข้าร่วมโครงการปี 2562 เกษตรกร 47 ราย ลดต้นทุนได้ร้อยละ 20 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และในปี 2563 มีแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ 3 แปลง ได้แก่ แปลงใหญ่มะยงชิด ตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา เกษตรกร 31 ราย ลดต้นทุนได้ร้อยละ 7.81 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 แปลงใหญ่มะยงชิด ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา เกษตรกร 59 ราย ลดต้นทุนได้ร้อยละ 20 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 แปลงใหญ่มะยงชิด ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก เกษตรกร 40 ราย ลดต้นทุนได้ร้อยละ 9.14 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ส่วนแปลงใหญ่มะยงชิด ตำบลศรีนาวา อำเภอเมืองนครนายก เป็นแปลงที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายกสำรวจแล้วพบว่ามีศักยภาพในการดำเนินการแบบแปลงใหญ่ได้ จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการในปี 2565 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการส่งเสริมด้านการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ ตามหลักการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 5 ด้าน
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การดำเนินงานระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย มุ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยที่อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีความพร้อมจะพัฒนาการผลิตและการตลาดร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน เน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต โดยผลการดำเนินงาน ณ ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ จำนวน 8,884 แปลง เกษตรกร 489,933 ราย พื้นที่ 8,295,628 ไร่ ก่อให้เกิดความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจ คือ ผลผลิตมีตลาดรองรับแน่นอน เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต คุณภาพได้มาตรฐาน เชิงสังคม เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการร่วมกันทั้งการผลิตการตลาด และเชิงสิ่งแวดล้อม เกษตรกรใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าใช้เทคโนโลยีเหมาะสมกับพื้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มสะสมตลอด 5 ปี โดยลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 24,854 ล้านบาท เพิ่มผลผลิต 22,422 ล้านบาท รวมมูลค่าเพิ่ม 47,276 ล้านบาท
ทั้งนี้ จังหวัดนครนายกมีเกษตรกรปลูกมะยงชิด จำนวน 2,642 ราย พื้นที่ปลูก 7,956 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ใน อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา และพื้นที่อำเภอปากพลีบางส่วน โดยในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นฤดูกาลที่มะยงชิดในพื้นที่ จังหวัดนครนายกให้ผลผลิตออกสู่ตลาด และผลผลิตเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคเป็นอย่างดี เป็นไม้ผลอัตลักษณ์ของจังหวัด พันธุ์ที่ปลูกส่วนใหญ่ คือ พันธุ์ทูลเกล้า และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในชื่อ “มะยงชิดนครนายก” และ จ.นครนายก ผลักดันให้เกษตรกรขอใช้ตราสัญญาลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ สีเหลืองส้ม ผลใหญ่ รูปไข่ เนื้อหนา เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม รสชาติหวานอมเปรี้ยว และมีค่าความหวานตั้งแต่ 18 – 22 องศาบริกซ์ ขึ้นไป โดยในปี 2565 มะยงชิด จังหวัดนครนายก ให้ผลผลิตประมาณ 1,800 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 226 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรมีการจำหน่ายผลสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะยงชิด เช่น กล้วยอบซอสมะยงชิด มะยงชิดลอยแก้ว น้ำมะยงชิดปั่น เค้กมะยงชิด เป็นต้น จากสวนเกษตรกรโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่มีลูกค้าประจำมาซื้อที่สวน การจำหน่ายผ่านเพจ Facebook ของตนเอง การจำหน่ายที่ตลาดเกษตรกรนครนายก บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ทุกวันศุกร์ รวมทั้งมีการขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com อีกด้วย
*******************************************
พีรมณฑ์, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก,สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร : ข้อมูล กุมภาพันธ์ 2565