กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์เคสความสำเร็จ แปลงใหญ่ผึ้งโพรง ปันแต เน้นน้ำผึ้งคุณภาพ แปรรูปเป็นเครื่องสำอาง เพิ่มมูลค่าและโอกาส เจาะตลาดทั่วโลก

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เป็นโครงการที่มุ่งเป้าหมายไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเกษตรอย่างยั่งยืน และมีการดำเนินการทั่วประเทศ ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเน้นการส่งเสริมและพัฒนาให้กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การกำกับดูแลโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“ แปลงใหญ่ผึ้งโพรงตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการจัดชั้นคุณภาพ A ที่สามารถเป็นต้นแบบได้ ทั้งด้านบริหารจัดการ ที่เน้นวางแผนการผลิต และสร้างรายได้ จากหลักบริหารจัดการร่วมกัน ส่วนด้านลดต้นทุนการผลิต ได้ใช้เทคนิคปรับเปลี่ยนรูปแบบลังผึ้ง พร้อมอุปกรณ์ติดตั้ง ให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น ง่ายต่อการติดตั้งและเคลื่อนย้าย ช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว”

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้  ทางกลุ่มยังได้ดำเนินการยื่นขอรับใบรับรองจาก อย. เพื่อรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์จากผึ้งโพรง และน้ำผึ้งในรูปแบบเครื่องสำอางอย่างลิปสติก ลิปมัน น้ำผึ้ง สบู่ และส่วนผสมในเครื่องดื่ม เพื่อสร้างความมั่นใจถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถขยายตลาดได้กว้างมากขึ้น และมียอดการจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเป็นอย่างดี

 ด้าน นายวีระพล ห้วนแจ่ม ประธานแปลงใหญ่ผึ้งโพรงตำบลปันแต กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิก 31 ราย มีรังผึ้งทั้งผึ้งโพรงไทยและชันโรง ประมาณ 1,000 รัง ผลผลิตต่อปีกว่า 10,000 กิโลกรัม สร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 4 ล้านบาท ที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่เลขที่ 102  หมู่ที่  11 ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน โทร. 08-1166-2462 โดยจุดเริ่มต้นมาจากพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์เหมาะสมกับการเลี้ยงผึ้งโพรง ด้วยเกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน อีกทั้งยังมีดอกไม้หลากหลายชนิด ตนเองจึงได้ริเริ่มเลี้ยงก่อน และต่อมามีเพื่อนบ้านให้ความสนใจหันมาเลี้ยงกันเพิ่มมากขึ้น โดยทางสำนักงานเกษตรอำเภอควนขนุน และสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ได้เข้ามาส่งเสริมให้รวมตัวตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2558 ต่อมาในปี 2560 ได้สนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ก่อให้เกิดความสำเร็จทั้งการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน มีระบบการบริหารจัดการแปลงที่ดี และมีการจัดการด้านการตลาด

ทั้งนี้ ประธานแปลงใหญ่ผึ้งโพรงตำบลปันแต  กล่าวย้ำว่า การเลี้ยงผึ้งโพรง ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ในฐานะแมลงเศรษฐกิจ ที่สามารถสร้างรายได้ครบวงจรให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยง ตั้งแต่การจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยง ไปจนถึงผลผลิต และขณะนี้ปริมาณผลผลิตที่ได้ยังไม่พอต่อความต้องการของตลาด ส่วนการเลี้ยงจะใช้วิธีที่เรียกว่า ใส่คอนลงรังเลี้ยงมีข้อดีคือ ง่ายต่อการจัดการ และสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ 10-12 ครั้งต่อปี หรือมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่ดอกไม้บานแตกต่างไปจากแบบเดิม ๆ ซึ่งแต่เดิมใน 1 ปี จะสามารถเก็บน้ำผึ้งได้เพียงละ 1 -2  ครั้งเท่านั้น

ประธานแปลงใหญ่ผึ้งโพรงตำบลปันแต กล่าวว่า นอกจากการใช้องค์ความรู้ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรมาปรับใช้จนประสบความสำเร็จแล้ว ทางแปลงใหญ่ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการนำผึ้งพันธุ์จากภาคเหนือ เข้ามาทดลองเลี้ยง ถึงตอนนี้เป็นเวลารวม 10 เดือนพอดี เบื้องต้นสรุปได้ว่า สามารถเลี้ยงได้เช่นเดียวกับภาคเหนือ ด้วยมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์เพียงพอ แตกต่างจากในอดีตที่ต้องประสบปัญหาแหล่งอาหารไม่เพียงพอ ทำให้การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ไม่ประสบความสำเร็จ แต่จากที่ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ได้หันมานิยมปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น เป็นการสร้างแหล่งอาหาร ผึ้งสามารถไปกินน้ำหวานและเกสรจากดอกของปาล์มน้ำมันได้ในปริมาณที่เพียงพอตลอดปี ตรงนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคใต้เลี้ยงผึ้งพันธุ์ได้ เกิดเป็นอีกทางเลือกให้กับเกษตรกรที่สนใจ  

“สำนักงานเกษตรอำเภอควนขนุน และสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง และกรมส่งเสริมการเกษตร ช่วยตอบโจทย์การพัฒนาที่ตรงความต้องการของเกษตรกร อย่างโครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ นี้ก็เช่นกัน โดยเมื่อปลายปี 2564 คณะกรรมการบริหารโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ และเชื่อมโยงตลาด จังหวัดพัทลุง ได้รับอนุมัติงบประมาณ 3 ล้านบาท จากที่ทางกลุ่มได้ยื่นเสนอเพื่อนำไปใช้ก่อสร้างอาคาร และจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น และต่อไปจะขอรับรองจาก อย.ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการขยายตลาดในประเทศ และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป” นายวีระพล กล่าวในที่สุด

*******************************************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว

กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ, สำนักงานเกษตรอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง : ข้อมูล มีนาคม 2565