นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงฤดูกาลผลไม้ในขณะนี้ ทำให้มีผลผลิตผลไม้หลายชนิดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากพร้อมๆ กัน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาด และสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดี และปลอดภัยต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตและตลาดสินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับพื้นที่ คือในระดับอำเภอ จนถึงระดับประเทศ ตามแผนบริหารจัดการไม้ผลแบบเบ็ดเสร็จ ปี 2564 – 2566 (ระยะปานกลาง) ของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการไม้ผล ซึ่งมี ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ซึ่งมีการวางระบบบริหารจัดการไม้ผลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนเก็บเกี่ยว ระยะเก็บเกี่ยว และระยะหลังเก็บเกี่ยว มีแนวทางดำเนินการดังนี้ 1) ชี้เป้าแหล่งผลิตผลไม้คุณภาพได้ชัดเจน 2)ส่งเสริมการบริโภคและประชาสัมพันธ์ 3) ป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด 4) ส่งเสริมการแปรรูป 5) ส่งเสริมการรวบรวม คัดแยก และจัดชั้นคุณภาพผลผลิต การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ และ 6) ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งผลิตคุณภาพ
สำหรับการบริหารจัดการมะม่วงนั้น ขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูกาลมะม่วงแล้ว โดยเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งจะมีผลผลิตมากปลายเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 60 จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น มีพื้นที่การปลูกมะม่วง 33,355.25 ไร่ เป็นพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 27,939 ไร่ ยังไม่ให้ผลผลผลิต 5,416.25 ไร่ สายพันธุ์ที่นิยมปลูกมาก คือ พันธุ์น้ำดอกไม้ จำนวน 13,647 ไร่ และพันธุ์อื่นๆได้แก่ พันธุ์เขียวเสวย พันธุ์แก้ว พันธุ์โชคอนันต์ เป็นต้น สำหรับการบริหารจัดการในพื้นที่นั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี พาณิชย์จังหวัดสุพรรณบุรี และหน่วยงานภาคี จัดประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมกันซื้อมะม่วงช่วยเกษตรกร ผ่านห้างสรรพสินค้า การซื้อขายออนไลน์ และปั๊มน้ำมันในพื้นที่ เปิดพื้นที่ระบายมะม่วงให้แก่เกษตรกร รวมทั้งเตรียมจัดทำรถเร่ เพื่อออกไปรับมะม่วงและออกจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และประสานกองทัพอากาศเพื่อรับซื้อผลผลิตเข้าสู่โรงครัวทหาร รวมทั้งประสานโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเป็นมะม่วงดองแล้ว จำนวน 18,000 ตัน ในส่วนของผลผลิตที่เน่าเสียได้ประสานสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีใช้ พด.6 ราดเพื่อย่อยสลาย เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักต่อไป
จังหวัดอ่างทอง มีพื้นที่การปลูกมะม่วงทั้งหมด 17,115.50 ไร่ ในปีนี้คาดว่าจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 13,241.50 ไร่ เป็นพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 8,917.5 ไร่ ยังไม่ให้ผลผลิต 4,324 ไร่ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง ได้ประสานกับบริษัทเอกชนรับซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้อ่อน เพื่อนำไปผลิตมะม่วงยำต่อไป รวมทั้งประสานไปยังตลาดไท ซึ่งมีโครงการตลาดร่วมใจสินค้าปลอดภัย เปิดโซนสำหรับให้เกษตรกรนำผลผลิตที่มีคุณภาพเข้าจำหน่ายได้
สำหรับจังหวัดสิงห์บุรี พื้นที่การปลูกมะม่วงทั้งหมด 2,160 ไร่ โดยส่วนใหญ่ปลูกเป็นสวนหลังบ้านกระจายอยู่ทั่วไป หรือเป็นสวนขนาดพื้นที่ 1 – 5 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย พันธุ์เขียวเสวย 670 ไร่ พันธุ์น้ำดอกไม้ 640 ไร่ และพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ โชคอนันต์ อกร่อง มันเดือนเก้า แก้วขมิ้น ฯลฯ ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี สหกรณ์จังหวัดสิงห์บุรี และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสิงห์บุรี มีการประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานและประชาชนทั่วไปให้เข้าไปซื้อผลผลิตหน้าสวนได้โดยตรง และนำผลผลิตออกมาจำหน่ายที่ตลาดของหน่วยงานภาครัฐจัดตั้งขึ้น เช่น ศาลากลางจังหวัด ส่วนราชการอื่นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว