นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า นายรุ่งเรือง ไล้รักษา เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด อยู่บ้านเลขที่ 136 หมู่ที่ 11 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเกษตรกรที่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คัดเลือกเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร ที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก เข้ารับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาทำไร่ ประจำปี พ.ศ. 2565 ด้วยเป็นเกษตรกรที่ปฏิบัติจริงในพื้นที่ของตนเองจนประสบความสำเร็จ โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่เข้าไปส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการพัฒนา สามารถบริหารจัดการการผลิต การตลาดให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน ช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของครัวเรือน รวมถึงชุมชนให้ดีขึ้น สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตรได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ นายรุ่งเรือง ไล้รักษา เกษตรกรดีเด่น สาขาทำไร่ กล่าวว่า ประกอบอาชีพทำไร่สับปะรดมากว่า 49 ปี จากเคยทำสับปะรดโรงงานมากกว่า 200 ไร่ ปัจจุบันแบ่งสัดส่วนพื้นที่ทำสับปะรดโรงงานควบคู่กับการทำสับปะรดผลสด ปรับใช้พื้นที่หมุนเวียนผลิตในพื้นที่ 70 ไร่ ทำการผลิตแบบประณีต ควบคู่กับการทำตลาดของตนเอง “ทำน้อยแต่ได้มาก” เลือกสายพันธุ์ผลสดที่ตอบโจทย์ตลาด เช่น พันธุ์เพชรบุรี1 พันธุ์ตราดสีทอง และพันธุ์ MD2 ภายใต้แบรนด์ SIAM GOLD ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เน้น “ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดี” ตลอดจนพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ถูกใจผู้บริโภคมีคุณภาพสม่ำเสมอ คือ รูปทรงสวยงาม รสชาติหวาน และเนื้อสีเหลืองสวย การทำเกษตรใช้หลัก ตลาดนำการผลิต บริหารจัดการแบบ “ผู้ประกอบการเกษตร” สร้างมูลค่าสินค้าตอบโจทย์ตลาด ส่งผลทำให้บริหารจัดการการผลิตและตลาดได้อย่างสมดุล มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน หลากหลายช่องทาง รวมถึงตลาดออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ของกรมส่งเสริมการเกษตร มีผลผลิตจำหน่ายทั้งในรูปผลสด และแปรรูป พร้อมกันนี้ยังได้ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ในพื้นที่รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการบริหารจัดการตลาดร่วมกัน”
หัวใจสำคัญของการผลิต คือ นำประสบการณ์มาเป็นข้อมูลวางแผนการผลิตให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ผลผลิตเฉลี่ย 8,800 กก.ต่อไร่ ในขณะที่ผลผลิตภาพรวมประเทศ 3,521 กก.ต่อไร่ มีการผลิตคุณภาพ ตามมาตรฐาน GAP อีกทั้งยังเป็นเกษตรกรที่ไม่ได้มีความคิดอยู่แต่ในกรอบ มีการศึกษาการใช้เทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมวิธีการ และดัดแปลงอุปกรณ์ เครื่องมือใหม่ ๆ ให้สามารถบริหารจัดการคุณภาพของผลผลิตสับปะรดผลสด สามารถลดต้นทุน และการแก้ปัญหาด้านการผลิตในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นได้รับการยอมรับ และถูกนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น เทคนิคการผลิตปุ๋ยหมักโดยใช้ท่อระบายความร้อนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสามารถผลิตปุ๋ย การดัดแปลงหางไถสำหรับยกร่องสับปะรด การออกแบบ “แขนบูม” ในการให้น้ำ การฉีดพ่นปุ๋ยและสารเคมีในแปลง การคิดค้นเทคนิคการขยายหน่อพันธุ์ เทคนิคต่าง ๆ เช่น วิธีการผ่าหน่อ การสไลด์ลำต้น การใช้เหง้า และการชักนำดอกของสับปะรด สามารถขยายหน่อพันธุ์ที่มีราคาแพงอย่างพันธุ์ MD2 สายพันธุ์ใหม่ ๆ จากภาครัฐและเอกชน รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวม และทดสอบพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อค้นหาพันธุ์ที่เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
นายรุ่งเรือง กล่าวต่อไปว่า ในฐานะเป็นประธานกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดอำเภอหัวหิน รวมถึงประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. อำเภอหัวหิน และอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เพื่อนเกษตรกร และเป็นศูนย์กลางการขยายผลเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตสับปะรด ของหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การวิจัยด้านสายพันธุ์สับปะรดผลสด การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสับปะรด และได้รับสนับสนุนระบบเกษตรอัจฉริยะ Handy Sense ในการควบคุมระบบน้ำ ของกรมส่งเสริมการเกษตร รวมถึงเป็นแปลงนำร่อง “แปลงสับปะรดอัจฉริยะ” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย