นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลัก ในการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร ในการพัฒนาอาชีพการเกษตรโดยเน้นการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ให้สามารถบริหารจัดการการผลิต การตลาดให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของครัวเรือนและชุมชนให้ดีขึ้น โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ การคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ซึ่งรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน ประจำปี 2565 ได้แก่ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน อยู่บ้านเลขที่ 50 หมู่ที่ 5 ตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ด้วยเป็นเกษตรกรที่มีความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน อีกทั้งยังได้คิดค้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการตลาดที่ดี ถือว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จตามหลักคัดการคัดเลือก และสามารถยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตรเป็นอย่างดี
ด้าน นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ ต้องมีความพยายามฟันฝ่าอุปสรรค ไม่ยอมแพ้ ต้องสู้ต่อไป โดยตนเองนั้นต้องพบกับความเสียหายครั้งสำคัญจากวาตภัยพายุใต้ฝุ่นเกย์ เมื่อ พ.ศ. 2532 ทำให้บ้าน สวนผลไม้เสียหายอย่างมหาศาล เรียกว่า เหลือแค่ที่ดิน ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด โดยจากเริ่มต้นใหม่จนถึงวันนี้เป็นเวลารวม 33 ปี โดยได้มาเริ่มปลูกทุเรียน เมื่อ พ.ศ. 2558 โดยเน้นปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก ปัจจุบันจำหน่ายทุเรียนคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ให้กับห้างโมเดิร์นเทรด ในนามแบรนด์สวนทวีทรัพย์ โดยมี QR Code ติดที่ขั้วผล สามารถแสกนตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) พร้อมระบุวันที่บริโภคได้
นายวีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ในการทำสวนทุเรียนนั้น ได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ เช่น การจัดทำวงจรการบริหารจัดการผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามมาตรฐาน GAP หรือ Premium Durian Cycle : PDC ในรอบ 1 ปี ทำให้ง่ายต่อการวางแผน และบริหารจัดการผลิต นอกจากนี้ยังทำทุเรียนพร้อมบริโภค ( Ready To Eat) ทุเรียนแบบพร้อมบริโภค ซึ่งกรอบนอกนุ่มใน บรรจุกล่องพลาสติก กล่องละ 1 กิโลกรัม จำหน่ายภายใต้ตราสินค้า “สวนทวีทรัพย์” โดยบรรจุลงกล่องโฟมที่มีน้ำแข็ง และขนส่งโดยระบบควบคุมความเย็น ในกรุงเทพ ใช้เวลาขนส่ง 1 วัน และส่งไปจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น ซึ่งใช้เวลาขนส่ง 2 วัน เป็นต้น
พร้อมกันนี้ นายวีรวัฒน์ ยังมีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่ดี อาทิ การเก็บเกี่ยวทุเรียนที่แก่จัด 80-90 % โดยทำการตัดทุเรียนมาวัดเปอร์เซ็นต์แป้ง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่แก่จัด จะต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้งเกิน 32% พร้อมตรวจสารพิษตกค้างในทุเรียน ก่อนส่งทุเรียนไปตลาดต่าง ๆ รวมทั้งได้วางแผนการตลาดที่ชัดเจน แน่นอน ซึ่งการจำหน่ายผลผลิตจะมีหลายรูปแบบ เช่น ห้างท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต ในเครือบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เพจ:สวนทุเรียน สวนทวีทรัพย์ ชุมพร เว๊บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์ ล้งทุเรียนส่งออก เป็นต้น จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ได้ผลผลิตดีตามเป้าหมาย โดยจากตัวเลข ปี 2563 ผลผลิตเฉลี่ย 2,505 กก.ต่อไร่ ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 316,346.66 บาท โดยเป็นต้นทุนเฉลี่ย 69,086.66 บาท และกำไรเฉลี่ย 247,260 บาท
ด้านการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม นายวีรวัฒน์ได้อุทิศให้สวนทวีทรัพย์เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. อำเภอปะทิว เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรภายใต้การประสานงานกับหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนต่าง ๆ เช่น ร่วมมือกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการอบรมให้ความรู้มาตรฐาน GAP เพื่อการส่งออก, การจัดอบรมการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืช ธาตุอาหารพืชใน ทุเรียน และมังคุด เป็นต้น
“ สิ่งที่จะทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จ และเกิดความยั่งยืนในอาชีพ ตามมุมมองแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างตราสินค้า มีการพัฒนาการผลิตและการตลาด รวมถึงการเพิ่มมูลค่าเพิ่มผลผลิต เช่นนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนแช่แข็งและผลไม้ฟรีซดราย และขยายธุรกิจในด้านอื่น ๆ เช่น จำหน่ายทุเรียนสดพร้อมบริโภค (แกะพู) แพ็คในกล่องพลาสติก (Durian Fresh cut) การทำท่องเที่ยวเชิงเกษตรครบวงจร และบ้านพักโฮมสเตย์ เป็นต้น” นายวีรวัฒน์ กล่าว