กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนกลุ่มปลูกผักปลอดสารบ้านหนองหญ้าข้าวนก จังหวัดขอนแก่น เป็นชุมชนต้นแบบด้านการสร้างรายได้ยั่งยืนและดำรงวิถีพอเพียง แนะกลุ่มอื่นนำไปเป็นตัวอย่างและต่อยอดองค์ความรู้ ด้านประธานกลุ่ม เน้นขยายตลาดเพิ่ม และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยควบคุมการผลิต
วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมคณะเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักปลอดสารบ้านหนองหญ้าข้าวนก ตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้การช่วยเหลือ เนื่องจากทางกลุ่มยังขาดสถานที่เก็บรวบรวมและบรรจุผลิตภัณฑ์ ขาดแคลนระบบสูบน้ำที่ไม่เพียงพอ และมีอุปสรรคด้านโรคและแมลง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กลุ่มปลูกผักปลอดสารบ้านหนองหญ้าข้าวนก โดดเด่นด้านการรวมตัวกันเพื่อปลูกพืชผักอินทรีย์ หรือผักปลอดสารพิษ เช่น ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาดหอม กระเพรา และผักชี โดยสามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายยังห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ได้ เช่น เทสโก้ โลตัส และ ท็อป ซุปเปอร์มาเก็ต มีผลผลิตออกจำหน่ายเฉลี่ย 4,000 – 5,500 กิโลกรัม สร้างรายได้ประมาณ 10,000-50,000 บาท ต่อเดือน นอกจากนี้ยังนำไปขายในตลาดท้องถิ่น โดยแบ่งเป็นมัดเล็กๆ เพื่อง่ายต่อการซื้อรับประทาน ราคา 10-20 บาท ซึ่งเน้นการตกแต่งให้สวยงาม ลดการใช้ถุงพลาสติก และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกของกลุ่มอีกทางหนึ่ง สามารถเลี้ยงครอบครัว และสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ดำรงวิถีพอเพียงได้ เป็นวิสาหกิจชุมชนที่กลุ่มอื่น ๆ สามารถนำไปเป็นต้นแบบและต่อยอดองค์ความรู้ได้
ด้านนายประสิทธิ์ พันธ์โบว์ เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer ปี 2561 ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักปลอดสารบ้านหนองหญ้าข้าวนก ระบุว่า ทางกลุ่มมีแผนจะเพิ่มช่องทางจำหน่ายเพื่อเพิ่มยอดขาย โดยติดต่อกับตลาดแหล่งอื่นในท้องถิ่นเพิ่มเติม เช่น บริษัท คิงส์ วิช จำกัด เตรียมคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เช่น การแปรรูปขนมจากผักสำหรับเด็ก นอกจากนี้ยังจะสร้างเครือข่ายผู้ผลิตผัก เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตในพื้นที่และกระจายสินค้าสู่ตลาดอื่นๆ เพิ่มเติม รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกเพื่อให้ผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น การปลูกผักกางมุ้ง หรือควบคุมการผลิตด้วยระบบโทรศัพท์ และเร่งเพิ่มศักยภาพสมาชิกกลุ่มให้มีความรู้และเชี่ยวชาญการผลิต การตลาด และเทคโนโลยี โดยเข้ารับการอบรมถ่ายทอดความรู้จากหน่วยงานของภาครัฐ
สำหรับกลุ่มปลูกผักปลอดสารบ้านหนองหญ้าข้าวนก ก่อนหน้านี้ได้ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนและขายภายในชุมชนเท่านั้น ต่อมามีการขยายตัวของตลาดเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้กลุ่มสามารถสร้างรายได้จากการขายผักเพิ่มขึ้น โดยใช้เป็นพื้นที่สาธารณะภายในหมู่บ้านเป็นแหล่งเพาะปลูก แบ่งเป็น สวนหลวง ซึ่งเป็นสวนสาธารณะกลางหมู่บ้าน ขนาดพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ และสวนโนน บริเวณหนองหมากเท้ง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะในหมู่บ้าน ขนาดพื้นที่ 30 ไร่ มีพื้นที่ปลูกผักรวมทั้งหมดประมาณ 20 ไร่ มีการจัดสรรพื้นที่ให้กับสมาชิกคนละประมาณ 100 ตารางวา และได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนใน ปี 2549 ในนาม วิสาหกิจชุมชนปลูกผักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองหญ้าข้าวนก ต่อมาในปี 2561 ได้มีการเปลี่ยนแปลงประธานคนใหม่เป็น นายประสิทธิ์ พันธ์โบว์ ที่มีแนวคิดก้าวหน้า รักการเกษตร และอยากพัฒนากลุ่มให้มีความเจริญเพื่อสร้างรายได้แก่ชาวบ้านหนองหญ้าข้าวนก จึงผลักดันให้มีการนำผลผลิตของกลุ่มขยายออกสู่ตลาดภายนอก โดยเริ่มจากการส่งผักให้กับห้างเทสโก้โลตัส ใช้รูปแบบการดำเนินงานจากกลุ่มปลูกผักบ้านโนนเขวา อำเภอเมืองขอนแก่น และต่อมาได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายไปยังโครงการตลาดจริงใจของ ท็อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัลพลาซ่าขอนแก่น และขยายไปยังตลาดภาคีอื่น ๆ พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่ในปี 2563 เป็นวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารบ้านหนองหญ้าข้าวนก เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม
ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด 165 ราย คณะกรรมการดำเนินงานบริหารงานจำนวน 15 คน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบแต่ละคนอย่างชัดเจน มีการตั้งกฎระเบียบของกลุ่มขึ้นบังคับใช้ และประชุมคณะกรรมการอย่างสม่ำเสมอประจำทุกเดือน สามารถวางแผนปลูกผักได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาล้นตลาดและราคาตกต่ำ นอกจากนี้สมาชิกทุกคนในกลุ่มยังเป็นเจ้าของกิจการโดยการถือหุ้นอย่างน้อย 1 หุ้นและคัดเลือกคณะกรรมการกลุ่มทุก 3 ปี ส่วนผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการรับรองมาตรฐาน มกษ.9000 เล่ม 1-2552 : เกษตรอินทรีย์ เล่ม 1 : การผลิตแปรรูปแสดงฉลาก และจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ การผลิตพืชอินทรีย์จากสถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร (ICAPS) จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้