กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกรสวนลำไยเชียงใหม่ พร้อมดันนโยบายยกระดับสินค้าเกษตร 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูงปีแรก

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ได้ลงพื้นที่แปลงใหญ่ลำไยตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเพาะปลูกและการผลิตลำไยร่วมกับนายกานต์ คำมงคล ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยตำบลชมภู ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยคุณภาพ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายยกระดับสินค้าเกษตร โครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยเห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมมือ วิเคราะห์และวางแผนพัฒนา ดังนี้ 1) การพัฒนาประสิทธิภาพกลไกตลาดลำไย โดยการเชื่อมโยงและเข้าร่วมตลาดมูลค่าสูง (ลำไย Premium) ผ่านกระบวนการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) และทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ มาตรฐาน สำหรับผลผลิตขนาดเกรด AAA และ AA ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ (ผลผลิตลำไยผลสดพันธุ์ หายาก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เบี้ยวเขียว ชมพู และพวงทอง) ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป อันจะส่งผลให้มีความชัดเจนแน่นอนด้านความต้องการซื้อที่สะท้อนถึงการวางแผนบริหารจัดการคุณภาพและบริหารต้นทุน และช่วยลดความเสี่ยงด้านราคา
2) การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่เป็น 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การจัดการคุณภาพดิน คุณภาพน้ำ กระบวนการสร้างพลังงานเพื่อเตรียมต้นลำไยให้สมบูรณ์ การตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่ม เตรียมการออกดอกและจัดการช่อดอก เพื่อให้ได้ผลผลิตลำไยเกรดคุณภาพ AAA และ AA ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ซึ่งจะช่วยสร้างความพึงพอใจแก่ตลาดและผู้บริโภค และ3) การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการช่วงเก็บเกี่ยว เช่น การเตรียมการพัฒนาคุณภาพแรงงานเก็บเกี่ยว การคัดแยกเกรดลำไยตามชั้นคุณภาพ และการรักษาคุณภาพผลผลิตลำไยที่เป็นมาตรฐานเพื่อการส่งออก


อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจะนำไปสู่การวิเคราะห์ วางแผนพัฒนาการผลิต การตลาดแบบมีส่วนร่วม ร่วมกับเกษตรกร นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนโครงการ 500 ตำบลแปลงต้นแบบ ปี 2567 (1 ตำบล 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง) ให้เป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมายเพิ่มรายได้ 3 เท่าภายในปี 2570 นอกจากนี้ยังได้รับทราบข้อดีข้อเสียของระบบการค้าขายลำไยแบบเหมาสวน ซึ่งเป็นวิธีการที่เกษตรกรมีการปฏิบัติมานานแล้ว โดยจะได้นำความคิดเห็นของเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวข้างต้น ไปวิเคราะห์และเสนอเป็นแนวทางการพัฒนาบริหารจัดการลำไยทั้งระบบต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยคุณภาพ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานต่อไป