เตือนเกษตรกรชาวสวนมังคุดในภาคตะวันออก เฝ้าระวังเพลี้ยไฟ เข้าทำลายมังคุดระยะออกดอก ถึง ระยะติดผลอ่อน ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมังคุดในภาคตะวันออกให้เฝ้าระวังเพลี้ยไฟ เข้าทำลายมังคุดที่อยู่ในระยะออกดอกถึงระยะติดผลอ่อน เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศแห้งแล้งเหมาะสมกับการแพร่ระบาด ซึ่งการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตมังคุดได้ ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนมังคุดอย่างสม่ำเสมอ หากพบการเข้าทำลายให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง ทำให้ผลผลิตเสียคุณภาพ หรือสามารถขอคำแนะนำได้ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

สำหรับเพลี้ยไฟที่ทำลายไม้ผลหลายชนิด เช่น มะม่วง เงาะ ส้มเขียวหวาน ทุเรียน ลิ้นจี่ ลำไย ส้มโอ รวมถึงมังคุดจะมีลักษณะลำตัวสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน เคลื่อนไหวรวดเร็ว ระยะตัวอ่อน 6 – 7 วัน จากนั้นเป็นระยะก่อนเข้าดักแด้ 1 – 2 วัน และตัวเต็มวัยอยู่ได้ประมาณ 22 วัน ตัวเมียแต่ละตัว วางไข่ได้เฉลี่ย 60 ฟอง

เมื่อเกิดการเข้าทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของพืช ถ้าเป็นใบอ่อนหรือยอดอ่อน ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น หงิกงอ และใบไหม้ ต้นมังคุดขาดความสมบูรณ์ หากมีการระบาดขณะออกดอกและติดผลอ่อน อาจทำให้ดอกและผลอ่อนร่วง ผลที่ไม่ร่วง เมื่อผลพัฒนาโตขึ้นจะเห็นรอยทำลายชัดเจนเนื่องจากผิวเปลือกมังคุดมีลักษณะขรุขระที่เรียกว่า ผิวขี้กลาก

ในส่วนของการป้องกันกำจัด กรมส่งเสริมการเกษตรมีข้อแนะนำ ดังนี้

  1. สำรวจการระบาดของเพลี้ยไฟบนใบอ่อน ดอก และผลอ่อน
  2. พ่นด้วยสารกำจัดแมลง ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 3 กรัม หรือ อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 10 มิลลิลิตร หรือ อะซีทามิพริด 20% SP อัตรา 4 กรัม หรือ สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 10 มิลลิลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 10 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นครั้งแรกก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์ เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟเฉลี่ยมากกว่า 1 ตัวต่อดอก และพ่นซ้ำอีก 2 ครั้ง ขณะดอกบาน และหลังดอกบาน 1 สัปดาห์ เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟเฉลี่ย 0.25 ตัวต่อดอกหรือผล ควรพ่นสารฆ่าแมลงสลับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์

ทั้งนี้ เกษตรกรไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้เพลี้ยไฟต้านทานต่อสาร
กำจัดแมลงได้