กรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับควบคุมทุเรียนคุณภาพภาคตะวันออก ฤดูกาลปี 67 เน้นย้ำใช้มาตรการ กำหนดเปอร์เซ็นต์แป้ง กำหนดวันเก็บเกี่ยว และตรวจก่อนตัด สกัดทุเรียนอ่อน

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าภาคตะวันออกนั้นถือเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญและเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกปีละหลายแสนตัน สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ซึ่งในฤดูกาลผลิตทุเรียนแต่ละปีมักจะมีกลุ่มบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ทั้งในกระบวนการผลิต การตัด และการซื้อขายทุเรียน และในบางครั้งมีการตัดหรือเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนถึงระยะที่เหมาะสม ทำให้มีทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) คละปนออกมา และนำเข้ามาจำหน่ายในตลาด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการตลาด ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เน้นย้ำไปยังเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในการควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียนให้มีมาตรฐานสำหรับการบริโภค พร้อมยกระดับความเข้มข้นให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่สร้างการรับรู้เกี่ยวมาตรการต่าง ๆ โดยยึดโมเดลการบริหารจัดการที่สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมในปีที่ผ่านมาเพื่อนำมาปรับใช้ในฤดูกาลปี 2567 นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด (จังหวัดระยอง จันทบุรี และจังหวัดตราด) ประสานและดำเนินการในการจัดทำคำสั่ง/ประกาศของจังหวัด อาศัยอำนาจทางการปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นข้อมูลในการดำเนินการต่อไปด้วย

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

            อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับโมเดลการบริหารจัดการที่นำมาใช้ในการควบคุมทุเรียนด้อยคุณภาพนั้น ประกอบไปด้วย 1) การกำหนดระดับความแก่ของทุเรียน ด้วยการวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน โดยใช้เกณฑ์กำหนดน้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มกษ. 3 – 2556 มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ทุเรียน ซึ่งกำหนดน้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนสำหรับการบริโภคในแต่ละสายพันธุ์ โดยกำหนดให้ทุเรียนพันธุ์กระดุม มีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 27 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ชะนี มีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 30 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์พวงมณี มีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 30 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์หมอนทอง มีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 32 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนต่ำกว่านี้ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ดังนั้น หากเกษตรกร พ่อค้าคนกลาง มือตัด พ่อค้าปลีก และผู้ประกอบการส่งออก (ล้ง) ผู้ใดจำหน่ายทุเรียนที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนต่ำกว่าที่ประกาศนี้ จะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้น ไม่เป็นความผิด ฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” และความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 “ผู้ใดโดยเจตนา ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”  

2) กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออกฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2567 ในแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้ ทุเรียนพันธุ์กระดุม วันที่ 15 เมษายน 2567 พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 พันธุ์หมอนทองวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะเก็บเกี่ยวและส่งออกทุเรียนก่อนกำหนดวันเก็บเกี่ยวในแต่ละสายพันธุ์ กรณีเกษตรกรและมือตัดให้แจ้งความประสงค์จะเก็บเกี่ยวทุเรียน พร้อมนำตัวอย่างทุเรียนที่จะเก็บเกี่ยวในแต่ละสายพันธุ์จากแปลงที่จะเก็บเกี่ยว และต้องไม่มีร่องรอยการเปิดกรีด จำนวน 1 ผล นำมาตรวจเปอร์เซ็นต์ น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน ณ จุดบริการตรวจก่อนตัดที่กำหนดไว้ ก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 3 วัน กรณีโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่จะส่งออก แจ้งความประสงค์จะส่งออกทุเรียน ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 หรือด่านตรวจพืชเพื่อสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนก่อนเข้าสู่กระบวนการตรวจศัตรูพืช และปิดตู้ส่งออก

3) การขอความร่วมมือ โดยให้เกษตรกรและมือตัดทุเรียน เก็บตัวอย่างทุเรียนในสวนของตนเองหรือในสวนที่จะตัด และนำไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน และขอให้มีการขึ้นทะเบียนนักคัดและนักตัดทุเรียน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จุดบริการตรวจก่อนตัด ออกหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนตัวอย่างที่ส่งตรวจให้กับเกษตรกรหรือผู้ส่งตรวจ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) สื่อสารกับเกษตรกรและมือตัดทุเรียนให้ปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัดอย่างเคร่งครัด และทุกครั้งที่รับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรหรือมือตัด และต้องขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน จากจุดบริการตรวจก่อนตัด ชุดปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน สวพ.6 ขอตรวจหนังสือรับรองผลการตรวจ น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน และให้ลงชื่อกำกับในหนังสือรับรองผลการตรวจน้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนในแต่ละรอบของการตรวจสอบคุณภาพก่อนปิดตู้ส่งออก ส่วนแผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่ง ขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนจากผู้ที่นำทุเรียนมาขาย เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ที่มาตรวจแผงรับซื้อ

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จังหวัดในภาคตะวันออกได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของทุเรียนที่กำลังจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาด ขณะนี้ทางจังหวัดจันทบุรี ระยอง และจังหวัดตราดได้ออกประกาศจังหวัด เรื่อง การกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน การกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน และ ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัด เรียบร้อยแล้ว โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่เฝ้าติดตามทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียนให้ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคได้รับประทานทุเรียนคุณภาพ และส่งผลดีด้านการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศต่อไป

************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว

สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร, สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี : ข้อมูล