นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำพระยาวิสูตร ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพง ตำบลนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ จากเหตุทำนบดินบริเวณจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทราทรุดตัว และทำให้มีน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงไหลเข้าไปปะปนกับน้ำจืดในคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจความเสียหายด้านพืชโดยเร่งด่วนนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการติดตามสถานการณ์ และสำรวจความเสียหายด้านพืชจากสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2567) ดังนี้
1) สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายด้านพืช ในพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย คลองขวางตัดคลองบางใหญ่ หมู่ที่ 15 ตำบลนครเนื่องเขต อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา คลองบางสาย วัดบางสาย หมู่ที่ 3 ตำบลโพรงอากาศ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว คลองจระเข้น้อย หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะไร่ คลองแสนภูดาษ หมู่ที่ 3 ตำบลแสนภูดาษ คลองแขวงกลั่น หมู่ที่ 3 ตำบลเทพราช คลองประเวศ หมู่ที่ 1-2 ตำบลคลองประเวศ อำเภอบ้านโพธิ์ และพื้นที่หมู่ที่ 9-10 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง พร้อมให้คำแนะนำ 8 แนวทางปฏิบัติสำหรับเกษตรกรเมื่อมีน้ำเค็มปนเปื้อนแหล่งน้ำด้านพืช และการสังเกตดูค่าความเค็มของน้ำ 4 ระดับ ในการนำมาใช้กับพืช เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาซึ่งเป็นพืชหลักของพื้นที่ ทั้งนี้ได้แจ้งแผนการผลักดันน้ำเค็มให้เกษตรได้รับทราบ พร้อมแจกสารเร่ง พด.6 เพื่อให้เกษตรกรใช้ในการปรับปรุงสภาพน้ำด้วย
2) สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ จำนวน 4 ทีม เพื่อดำเนินการสำรวจความเสียหายทางด้านพืช ผลกระทบทางด้านการเกษตร จำนวน 4 หมู่บ้าน 4 ตำบล ได้แก่ หมู่ 3 ตำบลคลองนิยมยาตรา หมู่ 4 ตำบลบ้านระกาศ หมู่ 3 ตำบลเปร็งและหมู่ 9 ตำบลบางพลีน้อย มีจำนวนเกษตรกรทั้งสิ้น 81 ราย จากการสำรวจประเมินอาการของพืช พบว่า มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทางด้านพืช จำนวน 11 ราย ชนิดพืช ได้แก่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำในการดูแลรักษาพืชที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม เน้นย้ำเกษตรกรให้ชะลอการสูบน้ำขึ้นมาใช้แม้ว่าสถานการณ์บางจุดจะคลี่คลายแล้วก็ตามโดยให้รอฟังประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมทั้งแจกสารเร่ง พด.6 เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับสภาพน้ำ บำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ และสื่อสารสร้างการรับรู้กับเกษตรกรผ่านสื่อบุคคล ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครเกษตร และผ่านสื่อเอกสารคำแนะนำ/ใบปลิว ของกรมส่งเสริมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และสำรวจความเสียหาย ด้านพืชตามแผนที่ได้กำหนดอย่างต่อเนื่องแล้ว ทั้ง 2 หน่วยงานยังได้ดำเนินการจัดทำชุดข้อมูลค่าความเค็มของน้ำเป็นรายวัน พร้อมชุดองค์ความรู้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปี ดำเนินการสื่อสารกับเกษตรกรในพื้นที่และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง กรณีหากเกิดผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจครัวเรือนต่อไป ทั้งนี้ จากการติดตามผลการดำเนินงานของทั้ง 2 หน่วยงาน กรมส่งเสริมการเกษตรมีความมั่นใจว่า งานที่ได้รับมอบหมายจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จ ครบถ้วน สมบูรณ์ และเสร็จสิ้นตามกรอบเวลาที่กำหนดแน่นอน