นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมเกษตรเขตเมืองอัจฉริยะ (Urban Agriculture) ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรเขตเมืองอัจฉริยะ จำนวน 100,000 แปลงทั่วประเทศ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กำหนดการพัฒนาพื้นที่เขตเมืองที่รกร้างว่างเปล่า หรือพื้นที่ทำการเกษตรที่ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ จำนวน 1,000 แปลง ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยมีกลไกการส่งเสริมเกษตรเขตเมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย 1. เจ้าของที่ดิน ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าหรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ 2. เกษตรกร ผู้ประกอบการเกษตรเขตเมืองที่มีประสบการณ์ความรู้บริหารจัดการแปลงเกษตรเขตเมือง 3. เจ้าของนวัตกรรมระบบเกษตรอัจฉริยะ ได้แก่ ระบบฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ โรงเรือนปลูกพืช เป็นต้น 4. วิสาหกิจชุมชนหรือผู้ประกอบการด้านตลาด ทำหน้าที่รวบรวมและกระจายผลผลิตของฟาร์มเกษตรเขตเมือง สู่ตลาดระดับต่างๆ ห้างร้าน โรงงานแปรรูป กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า บุคคลทั่วไป และตลาดออนไลน์ และ 5. เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนวิชาการด้านพืช การวางแผนการผลิต การป้องกันอารักขาพืช การประสานงานจัดหาช่องทางตลาด และเป็นที่ปรึกษาธุรกิจเกษตรให้แก่หุ้นส่วนเกษตรเขตเมือง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ดำเนินการรับสมัครเจ้าของที่ดินเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรหุ้นส่วนธุรกิจเกษตร เจ้าของนวัตกรรมระบบเกษตรอัจฉริยะ และวิสาหกิจชุมชนหรือผู้ประกอบการตลาด ตามเป้าหมายจังหวัดละ 200 แปลง ภายในเดือนเมษายนนี้ พร้อมทั้งจัดเวทีประชุมจับคู่หุ้นส่วนธุรกิจเกษตรร่วมวางแผนออกแบบฟาร์มโมเดลต้นแบบเกษตรเขตเมือง (Matching) เพื่อร่วมกันวางแผนการผลิตเกษตรที่สอดคล้องกับตลาด ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น ระบบเกษตรอัจฉริยะ และเกษตรปลอดภัยตามกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดเป็นแหล่งเรียนรู้และให้บริการพื้นที่เป้าหมายเกษตรเขตเมือง Smart Farmer หรือ Young Smart Farmer ร่วมเป็นหุ้นส่วนผลิตหรือที่ปรึกษาให้คำแนะนำ มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอในระดับพื้นที่ บริการให้คำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการผลิตเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ การเลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ในการผลิตและการเชื่อมโยงตลาด ให้แก่หุ้นส่วนเกษตรเขตเมืองและเกษตรกรผู้ประกอบการเกษตรเขตเมือง เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการทำเกษตรในเขตเมืองและขยายผลการพัฒนาในพื้นที่เขตเมืองอื่นต่อไป
ความก้าวหน้าเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรีได้ดำเนินกิจกรรมการจับคู่หุ้นส่วนธุรกิจ ร่วมวางแผนออกแบบฟาร์มโมเดลต้นแบบเกษตรเขตเมือง (Matching) ปี 2567 ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จังหวัดนนทบุรี โดยมีเกษตรกร เจ้าของที่ดิน ผู้ประกอบการ เจ้าของนวัตกรรม
ผู้รวบรวมผลผลิต และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน จำนวน 300 ราย ภายในงานมีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง
นายกำพล วงศ์ตรีเนตรกุล เจ้าของที่ดินที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีที่ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ต้องการพัฒนาพื้นที่ปลูกทุเรียนไว้เพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน จึงสนใจร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรเขตเมืองอัจฉริยะ
และได้จับคู่หุ้นส่วนเกษตรเขตเมืองอัจฉริยะกับนายชคดี นนทสวัสดิ์ศรี ต้นแบบ ศพก. ซึ่งเป็นปราชญ์เกษตรกรด้านการปลูกทุเรียน ที่มีนวัตกรรมการปลูกทุเรียนแบบ Air Pruning Pot มาช่วยชี้แนะการปลูกทุเรียนที่เป็นสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ของนนทบุรี พร้อมติดตั้งระบบการให้น้ำอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายเป็นจุดเรียนรู้ด้านการปลูกทุเรียน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดนนทบุรีในอนาคต