“ประดับ ปิ่นนาค” เปลี่ยนจากทำไร่อ้อยมาเป็นสวนไผ่ควบคู่ไม้ผล ขับเคลื่อนผ่านโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ สร้างอาชีพให้กับครัวเรือนและคนในชุมชนตลอดทั้งปี

กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรทุกท่าน ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2567 ทุกท่าน ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567

นางพรทิพย์ ศรีสมโภชน์ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรสถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่นสาขาอาชีพ/ประเภทที่กำหนดเพื่อเป็นเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตร โดยในปี 2567 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เล็งเห็นถึงความสามารถของนายประดับ ปิ่นนาค ที่มีความเชี่ยวชาญในอาชีพเกษตรกร สามารถถ่ายทอดความรู้ได้เป็นอย่างดี เป็นบุคคลที่มีน้ำใจ มีจิตสาธารณะ รวมถึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยเหลือเกษตรกรรายอื่นๆ ให้ประสบความสำเร็จในอาชีพทางการเกษตร จึงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ โดยมีนายประดับ ปิ่นนาค เป็นผู้นำ และสนับสนุนให้สมาชิกได้รับองค์ความรู้ โดยรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภายใต้การดำเนินตามระบบแปลงใหญ่ ส่งผลให้แปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง/ไผ่ และไม้ผลเศรษฐกิจครบวงจร เติบโตด้วยความเข้มแข็ง สร้างรายได้ ให้กับสมาชิกอย่างทุกวันนี้ และทุกองค์ประกอบจากความตั้งใจที่ผ่านมาส่งผลให้ นายประดับ ปิ่นนาค ได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพทำสวน ประจำปี พ.ศ. 2567

 

นายประดับ ปิ่นนาค เกษตรกรดีเด่นสาขาทำสวน ประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นประธานแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง/ไผ่ และไม้ผลเศรษฐกิจครบวงจร เปิดเผยว่า เดิมครอบครัวมีอาชีพทำนาปลูกผักและพืชไร่ ต่อมาปี 2527 ได้ปรับเปลี่ยนไร่อ้อย จำนวน 4 ไร่ มาเป็นไม้ผลผสมผสาน ผักสวนครัวและไผ่พื้นบ้าน เพื่อขายหน่อและใช้สอย เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี กระทั่งในปี 2537 มีเกษตรตำบลนำไผ่ซางหม่นมาให้ทดลองปลูก จึงสนใจและทดลองปลูกจนได้กอไผ่ที่สวยงาม และมีเกษตรกรในพื้นที่ขอให้ช่วยขยายพันธุ์ไผ่ จึงได้เริ่มขยายพันธุ์ไผ่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมทั้งมองเห็นช่องทางในการขยายพันธุ์พืชเพื่อจำหน่าย โดยได้ลงทุนซื้อบ่อดินลูกรังเพื่อปลูกไผ่เพิ่ม ปรับพื้นที่และวางผังการปลูก ติดตามสถานการณ์ของตลาดอย่างต่อเนื่องและต่อยอดวิธีการขยายพันธุ์ไผ่ ทดลองด้วยตนเองโดยการลองผิดลองถูกอยู่หลายปี จนได้วิธีการตอนกิ่งไผ่ที่ดีที่สุด นั่นคือการตอนกิ่งแบบ “ตอน 1 ข้อ ได้ 2 กิ่ง” ต้นแม่พันธุ์ 1 ต้น ตอนได้ จำนวน 10 ข้อ จะได้เป็น 20 กิ่ง/ต้น” จนประสบความสำเร็จ สามารถต่อยอดสร้างอาชีพให้กับครัวเรือนและคนในชุมชนได้เป็นอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดการพื้นที่การเกษตร ปรับพื้นที่ดินจากบ่อดินลูกรัง มาทำเป็นแปลงปลูกไผ่เพื่อขยายพันธุ์ โดยการขุดหลุมปลูกให้กว้างและลึก เพื่อให้มีพื้นที่กักเก็บความชื้นอยู่ภายในหลุม ใช้หลักกสิกรรมธรรมชาติ เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงชีวิต ฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างระบบนิเวศที่สมดุลต่อระบบภาคการเกษตรใช้วิธีการห่มดินด้วยใบไผ่ที่ร่วงหล่น นำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร มากองไว้ระหว่างร่องแปลงไผ่ เมื่อย่อยสลายให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณหน้าดินให้ลึกขึ้น ถือเป็นการผลิตปัจจัยการผลิตไว้ใช้เองเพื่อลดต้นทุน เนื่องจากดินในแปลงเป็นดินลูกรัง จึงจำเป็นต้องปรับวัสดุปลูก โดยนำดินที่ขุดขึ้นมาจากแปลงผสมกับอินทรีย์วัตถุ เพื่อให้เป็นวัสดุปลูก และปรับปรุงดินในแปลงโดยใช้ใบไผ่ ใบข้าวโพดและแกลบดิบ ใช้การกำจัดวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมี เช่น วิธีการกำจัดหญ้าคาโดยใช้เศษซากพืชมาคลุมพื้นที่ทำให้หญ้าคาไม่ได้รับแสงแดด โดยใช้วิธีปล่อยให้หญ้าคางอกและโต แล้วทำการโน้มทับต้นหญ้าคาให้ล้มราบกับพื้น จากนั้นนำเปลือกและแกนข้าวโพดมาวางทับไม่ให้แสงแดดทะลุผ่านลงดิน อากาศผ่านได้น้อย เกิดความร้อนจากกระบวนการย่อยสลาย ทำให้หญ้าคาตายทุกส่วน ระบบรากและเหง้าของหญ้าคาจะตายและย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เกิดช่องว่างระหว่างเม็ดดิน ทำให้ดินร่วนซุย ซึ่งเหมาะสำหรับการปลูกพืช การบริหารจัดการน้ำในพื้นการเกษตรโดยเก็บกักน้ำไว้ในสระขนาดใหญ่ส่งผลให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี มีการปรับพื้นที่ให้ลาดเอียงเพื่อให้น้ำไหลกลับลงบ่อ สร้างพื้นที่สำหรับเติมน้ำลงใต้ดิน เพื่อดักน้ำและรวบรวมน้ำลงสู่ใต้ดิน  ใช้พลังงานทดแทน (พลังงานแสงอาทิตย์) ด้วยการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์พื้นที่ 200 ตารางวา ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟได้ 30 กิโลวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานประมาณ 100 ไร่ ในการสูบน้ำรดต้นกล้าและต้นไม้ทั้งสวน

 

นายประดับ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังทำหน้าที่ประธานแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง/ไผ่ และไม้ผลเศรษฐกิจครบวงจร ปี พ.ศ. 2561 สำนักงานเกษตรอำเภอตรอนและสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เข้ามาส่งเสริมให้ผู้ผลิตกล้าไม้ของตำบลวังแดงและพื้นที่ใกล้เคียง รวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง/ไผ่และไม้ผลเศรษฐกิจครบวงจร เพื่อขยายพันธุ์พืชและจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และในปี พ.ศ. 2562 สำนักงานเกษตรอำเภอตรอนได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อให้ความรู้กับสมาชิกภายในกลุ่มและผู้ที่สนใจ และได้ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการในรูปแบบของแปลงใหญ่ในชื่อ แปลงใหญ่มะม่วง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง/ไผ่ และไม้เศรษฐกิจครบวงจร เพื่อดำเนินตามหลักการของแปลงใหญ่ คือการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตการพัฒนาคุณภาพ การวางแผนการตลาดที่วิเคราะห์การตลาดล่วงหน้า โดยใช้การตลาดนำการผลิต และการบริหารจัดการร่วมกัน มีการอบรมและจัดเวที เช่น การจัดทำแผนวิสาหกิจชุมชน  การจัดทำแผนธุรกิจการอบรมความรู้เรื่องดิน ปุ๋ย การใช้สารเคมี การใช้ชีวภัณฑ์ เป็นต้น จนปัจจุบันการดำเนินงานของกลุ่มมีความเข้มแข็ง สามารถต่อยอดองค์ความรู้ มีการพัฒนาในกระบวนการผลิตที่ดีขึ้น มีเครือข่าย สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับสมาชิกและชุมชน และเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย

“ตนยึดมั่นทำการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการวางแผนการผลิตโดยใช้หลักตลาดนำการผลิต โดยทุกกิจกรรมจะเน้นการพึ่งพาตนเอง ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่ตนเอง ครอบครัว และชุมชน มีการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียง ปลูกฝังและสร้างทัศนคติที่ดี ในการทำการเกษตร และได้ขยายผลไปสู่เกษตรกรกว่า 30 ครอบครัว จำนวน 120 คน นำความรู้เรื่องการขยายพันธุ์ไผ่ ไปสร้างอาชีพของตนเอง ทำให้คนในชุมชน มีงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถปลดหนี้ได้ และลดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามถิ่น ได้อยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างมีความสุข นอกจากนี้ ยังเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนที่สนใจแต่ไม่มีพื้นที่ทำกินเข้ามาเช่ากอไผ่ เพื่อทำแปลงขยายพันธุ์ไผ่พร้อมถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เช่าอีกด้วย และการที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาทำสวนในปีนี้ นับว่าเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิตเกษตรกร เป็นความภาคภูมิใจของตนเองและครอบครัว” นายประดับ กล่าว