“การดื้อยา” หรือ การที่ศัตรูพืชต้านทานสารเคมี เกิดขึ้นได้จากการใช้สารเคมีที่ผิดวิธี หรือใช้ในอัตราที่ไม่เหมาะสม ทำให้ศัตรูพืชสร้างกลไกการต้านทานขึ้น เพื่อต้านทานสารเคมีชนิดนั้นๆ ส่งผลให้เกิดการดื้อยาในศัตรูพืชรุ่นลูกและรุ่นหลาน ทำให้สารเคมีที่เกษตรกรเคยใช้ไม่ได้ผล ไม่สามารถจำกัดแมลงได้อีกต่อไป ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เนื่องจากต้องพ่นสารเคมีซ้ำหรือใช้ในปริมาณที่มากขึ้น แต่ผลผลิตที่ได้กลับมีคุณภาพและปริมาณลดลง
วิธีป้องกันศัตรูพืชดื้อยา ควรป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานหรือ IPM ได้แก่ ใช้วิธีกล เขตกรรม ชีววิธี หรือใช้สารเคมี เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสามารถควบคุมศัตรูพืชได้อย่างยั่งยืน โดยจะต้องสำรวจประชากรของแมลงศัตรูพืชก่อนป้องกันกำจัด เพื่อเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของปริมาณศัตรูพืช หากพบศัตรูพืชระบาดจำนวนมากควรใช้สารเคมีในอัตราตามคำแนะนำของฉลาก ไม่เพิ่มหรือลดอัตราสารเคมีเอง เพราะจะเป็นสาเหตุให้ศัตรูพืชดื้อยามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรพ่นสารเคมีในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ช่วงแมลงอ่อนแอ ช่วงตัวอ่อนของศัตรูพืชหรือระยะหนอน และไม่พ่นสารเคมีกลุ่มเดิมซ้ำอย่างต่อเนื่อง แต่ควรพ่นสารเคมีแบบหมุนเวียน โดยพ่นสารเคมีแบบสลับกลุ่มสารตามกลไกการทำลายหรือการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน เช่น สลับกลุ่มสารเคมีที่มีผลกระทบกับระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อ กลุ่มที่ยับยั้งขบวนการเจริญเติบโต หรือกลุ่มที่มีผลกับระบบทางเดินอาหารส่วนกลาง เป็นต้น โดยสังเกตตัวเลขกลุ่มสารเคมีบนฉลาก
สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามกลไกการออกฤทธิ์แบ่งออกเป็น 36 กลุ่ม เช่น สารกลุ่มยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลินเอสเทอเรสที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ได้แก่ สารคาร์บาเมท สารออร์แกโนฟอสเฟต เป็นต้น สารกลุ่มที่ปรับการทำงานของช่องโซเดียม ซึ่งสารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วทำให้แมลงตายทันทีเมื่อแมลงได้รับสาร หรือเรียกอาการตายทันทีนี้ว่า knockdown ได้แก่ สารไพรีทริน สารไพรีทรอยด์ สารดีดีที และสารเมท็อกซีคลอร์ เป็นต้น และสารกลุ่มที่เป็นตัวยับยั้งการขนส่งอิเลคตรอนที่คอมเพล็กซ์ 4 ในไมโตคอนเดรีย สารกลุ่มนี้ช่วยยับยั้งขบวนการผลิตพลังงานในรูป ATP ทำให้แมลงตายเนื่องจากขาดพลังงาน ได้แก่ สารฟอสไฟด์ สารไซยาไนด์ เป็นต้น
ตัวอย่างการออกแบบการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบหมุนเวียนกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ เพื่อลดปัญหาความต้านทานของศัตรูพืช ต้องเข้าใจถึงหลักการใช้สารแบบหมุนเวียนอย่างแม่นยำ คือการใช้สารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น ช่วงเวลา 1 ชั่วอายุขัยของแมลง ใช้สารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่เกิน 3 ครั้ง โดยพิจารณาสารที่มีประสิทธิภาพระดับต่าง ๆ โดยดูจากเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพ และพิจารณาจากข้อมูลความยาวนานในการป้องกันกำจัด และในครั้งถัดไปให้หลีกเลี่ยงการใช้สารกลุ่มเดิมที่ใช้ในช่วงเวลาแรก ไม่ควรสลับกลุ่มสารทุกครั้งที่พ่นสาร หากจำเป็นต้องใช้สารแบบผสมเพื่อให้สามารถกำจัดแมลงที่ต้านทานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรผสมสารกลุ่มที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันคือ ควรใช้สารกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ ผสมกับสารกลุ่มที่ปรับการทำงานของช่องโซเดียม แต่ไม่ควรใช้สารจำนวน 2 สารในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์เหมือนกันมาผสมเข้าด้วยกันเพราะจะทำให้ศัตรูพืชปรับตัวต่อต้านและดื้อยาได้นั่นเอง
***************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์: ข่าว สิงหาคม 2567
ที่มา : กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร