กรมส่งเสริมการเกษตร ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ และข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล ร่วมกับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตร และเร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ การบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล และการวิจัยพัฒนา ทั้งสองหน่วยงาน เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ การศึกษา ค้นคว้า และวิจัย ประกอบการดำเนินนโยบายตามพันธกิจของหน่วยงาน และสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ครอบครัวเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มศักยภาพการผลิต การแปรรูป การเพิ่มมูลค่า การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ โดยการศึกษา วิจัย พัฒนา กำหนดมาตรการ และแนวทางในการส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และการให้บริการทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงมีการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อต้องการทราบสถานการณ์การเพาะปลูกของเกษตรกรที่เป็นปัจจุบัน สำหรับใช้ในการดำเนินการวางแผนพัฒนาการเกษตรและเกษตรกร และเป็นข้อมูลสนับสนุนการจัดทำโครงการมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและยังมีสถานะการเป็นเกษตรกรอยู่จำนวน 6.9 ล้านครัวเรือน และมีสมาชิกครัวเรือน จำนวน 11 ล้านราย รวมทั้งหมด 17.90 ล้านราย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่แจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร จะมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมที่ดิน ข้อมูลทะเบียนราษฎร มีการวาดผังแปลงดิจิทัลรายแปลงแบบ Real Time ของสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อป้องกันการแจ้งขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อน หากกรมส่งเสริมการเกษตรสามารถเชื่อมโยงข้อมูลหนังสืออนุญาตให้เข้าทําประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินของทั้ง 2 หน่วยงานได้ จะเป็นประโยชน์ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง เป็นการลดภาระงานขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร และทั้ง 2 หน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ สําหรับดําเนินงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยได้อย่างแม่นยํา อีกทั้ง เกษตรกรยังสามารถเข้าถึงความมั่นคงของสิทธิจากการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ และได้รับสิทธิประโยชน์ หรือความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว นําไปสู่การยกระดับการพัฒนาการบริการด้านการเกษตรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด