เกษตรเขต 5 สงขลา จับมือเกษตรฯ ตรัง ขับเคลื่อน“เทคโนโลยีพร้อมใช้ (Appropriate Technology” สู่การพัฒนากลุ่มแปลงใหญ่จาก อำเภอกันตัง

นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีความร่วมมือกับหน่วยงานวิชาการ และพบว่ามีฐานข้อมูลงานวิจัยและนวัตกรรมที่หลากหลาย จึงมีแนวคิดในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกษตรกร และผู้สนใจ ให้สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง รวมทั้งการรวบรวมปัญหาของเกษตรกร เพื่อนำมาค้นหางานวิจัย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และศูนย์ปฏิบัติการอยู่ในทุกพื้นที่ ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร โดยมีเกษตรกรต้นแบบที่เป็น Young Smart Farmer (YSF), Smart Farmer (SF), กลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่เป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ เช่น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ที่สามารถเป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ตามนโยบาย BCG ของรัฐบาล


สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง และสำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง ดำเนินการขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) สู่การใช้ประโยชน์ โดยการจัดเวทีชุมชนเพื่อวิเคราะห์ปัญหาความต้องการ และการจัดทำแนวทางพัฒนากลุ่ม ณ แปลงใหญ่ต้นจาก หมู่ที่ 5 ตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบท วิถีชีวิต การนำส่วนต่าง ๆ ของต้นจาก มาสร้างรายได้ การวิเคราะห์สภาพปัญหาของกลุ่ม ตลอดจนความต้องการในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข และร่วมกันจัดทำแผนโดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคี เพื่อพัฒนากลุ่มต่อไป

“ต้นจาก” ซึ่งเป็นพืชในตระกูลปาล์ม สามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่ติดชายทะเล ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 11 ตำบลของอำเภอกันตัง พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ชาวบ้านในพื้นที่แทบทุกชุมชน จะมีวิถีชีวิตในการดำรงหาเลี้ยงชีพด้วยการพึ่งพาอาศัย “ต้นจาก” ซึ่งสามารถสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนมากมายหลายรูปแบบ โดยส่วนต่าง ๆ ของ “ต้นจาก” สามารถแปรรูปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้รับการสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ และจากการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ทำให้ในปี พ.ศ. 2563 ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรและจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ต้นจาก มีสมาชิก 39 ราย พื้นที่ 260 ไร่ จังหวัดตรังได้ส่งเสริมการเกษตรแบบ BCG Model ดำเนินการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นจาก มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า เช่น ยอดจาก แปรรูปเป็นใบจากแห้ง ตะกร้า ติหมาใส่น้ำ ทำกระดาษ ใบจากสด นำไปทำตับจากมุงหลังคา ทำขนมใบจาก น้ำหวานจากแปรรูปเป็นน้ำตาลจาก น้ำส้มจาก เกล็ดน้ำตาล และผลจาก แปรรูปเป็นขนมหวาน เปลือกจาก นำไปย้อมผ้า ทำถ่านไบโอชาร์ เป็นต้น ปัจจุบันชุมชนได้ต่อยอด BCG ต้นจาก โดยการผลิตสินค้าชุมชนรายย่อยสู่การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่จากในพื้นที่อำเภอกันตัง จำนวน 6 กลุ่ม และได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ต้นจาก ต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยใช้วิถีชีวิตคนกับสวนจากด้วย