“จันทร์เรืองฟาร์ม (JR Farm)” ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี แหล่งบ่มเพาะเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการเกษตรในอนาคต

 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer ตั้งแต่ปี 2557 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรที่มีอายุระหว่าง 17 – 45 ปี มุ่งเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย ให้เกษตรกรเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง” โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็น “ผู้จัดการเรียนรู้” มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถทดแทนเกษตรกรผู้สูงอายุ และสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม พัฒนาให้มีความสามารถในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดสินค้าเกษตร รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของเครือข่าย Young Smart Farmer ผ่านการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ (ศบพ.) ที่มีองค์ความรู้หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อเป็นศูนย์กลางการทำงานของเครือข่าย Young Smart Farmer ระดับจังหวัดในการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และสถาบันการเงิน ร่วมกันพัฒนาและยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร ปัจจุบันมีศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 686 ศูนย์ หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ คือ จันทร์เรืองฟาร์ม (JR Farm) ของ คุณณัฐวุฒิ จันทร์เรือง YSF จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ในอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ที่ได้นำเทคโนโลยีและแนวคิดด้าน Smart Farming มาใช้พัฒนาการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างเครือข่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่

จันทร์เรืองฟาร์ม (JR Farm) ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรยุคดิจิทัล เทคโนโลยีสมัยใหม่ องค์ความรู้ควบคู่งานวิจัย หลักการธุรกิจเกษตร รวมทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการเกษตรในอนาคต โดยมีคุณณัฐวุฒิ จันทร์เรือง หรือณัฐ Young Smart Farmer ปี 2563 เป็นเจ้าของศูนย์ ซึ่งคุณณัฐถือเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจในการทำการเกษตรเนื่องจากพื้นฐานครอบครัวที่มาจากการทำสวนผลไม้มากว่า 10 ปี และมองเห็นความสำคัญของอาชีพที่หล่อเลี้ยงครอบครัว ส่งเสียตนเองจนเรียนจบปริญญาโท ด้านพลังงาน และเป็นผู้เชี่ยวชาญเกษตรอัจฉริยะด้วยระบบหุ่นยนต์และการควบคุมอัตโนมัติ จึงได้นำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาปรับใช้ และพัฒนาด้านการผลิต การแปรรูป ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดต้นทุนการจ้างแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวคิดในการทำธุรกิจเกษตรของ “จันทร์เรืองฟาร์ม” กับผลไม้ยอดฮิตอย่าง ทุเรียน มังคุด ที่เป็นที่นิยมทั้งไทยและต่างประเทศ มีการพัฒนา เพิ่มมูลค่า แปรรูปผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด และได้เล็งเห็นโอกาสในธุรกิจ Wolffia (วูล์ฟเฟีย) หรือไข่น้ำ หรือไข่ผำ พืชจิ๋ว ที่มีโปรตีนสูง ไฟเบอร์ และกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย และสามารถผลิตไข่ผำได้โดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีมาตรฐานการผลิต นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรได้เป็นอย่างดี จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ภายในฟาร์ม พัฒนาสวนจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่ ให้กับชุมชน ได้เข้ามาศึกษาและนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างความมั่งคงทางอาหาร และต่อยอดอาชีพให้กับตนเองได้

โดยจันทร์เรืองฟาร์ม (JR Farm) ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ มีประเด็นวิชาการในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้เข้ามาเรียนรู้กับศูนย์ ดังนี้

1. ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่

ได้มีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ (Smart Faming) มาใช้ในสวนเพื่อลดการใช้แรงงานคน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ ขยายผลสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการ ได้แก่

– ระบบ Smart Farm เป็นระบบที่ควบคุมสวนไม้ผลแบบครบวงจร ทั้งการให้น้ำพืชอย่างเหมาะสม การใช้รถบังคับตัดหญ้า และการใช้โดรนเพื่อการเกษตร ฯลฯ

– การทำ QR Code ให้ต้นไม้แต่ละต้น เพื่อบันทึกข้อมูลการให้น้ำและสารอาหารแก่พืช รวมทั้งติดตามปัญหาโรคพืช ซึ่งการทำวิธีนี้จะช่วยให้มีข้อมูลที่ชัดเจนสามารถวิเคราะห์ปัญหา และแก้ไขได้อย่างเหมาะสม 

– ระบบการเลี้ยงผำแนวตั้งอัตโนมัติ ควบคุมการจัดการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต สามารถควบคุมค่า pH EC ผ่านมือถือ และจัดเก็บข้อมูลอัตโนมัติ การพัฒนาการเกษตรด้วยงานวิจัย ร่วมกับ มหาวิทยาลัย และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เกิดเป็นระบบเลี้ยงผำแนวตั้ง และแนวทางการผลิตผำที่ดี (GAP) แห่งแรกของประเทศไทย

2. ด้านคุณภาพและมาตรฐาน มีดังนี้

– มาตรฐานการผลิต ได้แก่ GAP พืช (ผำ ทุเรียน มังคุด ลองกอง)  

– มาตรฐานการแปรรูป ได้แก่ GMP อย. HACCP ฮาลาล

– มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร มกษ.9001-2564 

3. ด้านการเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป นำนวัตกรรมด้านการแปรรูปมาเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตที่หลากหลาย เช่น ผงผำชาเขียว บะหมี่ผำ คุกกี้ธัญพืชผสมโปรตีนผำ และไอศกรีมผำ เป็นต้น

4. ด้านการตลาดได้มีการทำตลาดออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Facebook /TikTok /Shopee รวมทั้งตลาดออฟไลน์ เช่น การขายหน้าร้าน Modern trade และตลาดต่างประเทศ และใช้ทุกช่องทางตลาดออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กว้างขวาง

5. ด้านการขยายผล มีการรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนทำการแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตรตามฤดูกาล ทำเบเกอรี่ และเปิดเป็นศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการจัดการสวนผลไม้ ขยายผลสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ จันทร์เรืองฟาร์ม (JR Farm) ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ ยังมีแผนการดำเนินงานที่จะพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าแปรรูปไข่ผำ ให้มีความหลากหลายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น สารสกัดผำ ใส่ในเครื่องสำอาง Protein – Hydrolysis เป็นต้น ผู้ที่สนใจอยากเข้าไปเยี่ยมชมเรียนรู้ ที่ “จันทร์เรืองฟาร์ม (JR Farm)” ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี สามารถติดตาม และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Page Facebook : วิถีชาวสวน by สวนจันทร์เรืองพ่อลูก Tiktok : jrfarmthailand เบอร์โทร : 08 5697 9594

……

กรมส่งเสริมการเกษตร : ข่าว

กองพัฒนาเกษตรกร : ข้อมูล