กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดโมเดลบริหารจัดการผลผลิต และตลาดสินค้าเกษตรในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการกระจายผลผลิตเกษตรคุณภาพให้ถึงมือผู้บริโภคในราคายุติธรรมไม่ส่งผลกระทบทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค พร้อมปลุกแคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด”
นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ในขณะนี้ ส่งผลกระทบให้ผลผลิตเกษตรที่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาดในระยะนี้ ทั้งไม้ผล ไม้ดอก และพืชผักต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ อีกทั้งภาคธุรกิจและสถานบริการหลายแห่งปิดตัวลง ทำให้ลดจำนวนการสั่งซื้อสินค้าเกษตรลง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และผลผลิตกระจุกตัวในแต่ละพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตและตลาดสินค้าเกษตรในแต่ละระดับไว้ดังนี้ เบื้องต้นมุ่งไปที่การจัดการในระดับพื้นที่ ในระดับอำเภอ กรมฯ ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรอำเภอติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การผลิตการตลาดสินค้าเกษตรเป็นระยะ และในระดับจังหวัดให้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งพาณิชย์จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ให้บริหารจัดการสินค้าในพื้นที่โดยการจัดหาแหล่งรับซื้อผลผลิต และใช้พื้นที่ใน “ตลาดเกษตรกร” ทั้ง 77 จังหวัด ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งขึ้นเป็นตลาดในการระบายสินค้า นอกจากนี้ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งเสนอคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) พิจารณาแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนการจัดการระดับส่วนกลาง ทั้งในระดับเขตและกรมจะเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการ กรณีที่ระดับพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยกรมฯ จะประสานงานจัดหาช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้าด้านการเกษตรต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร ได้แก่ ตลาด Modern trade เช่น Tesco Lotus, Big C และ Makro ตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท ตลาดเฉพาะกิจ เช่น จำหน่ายสินค้าในรูปแบบค้าส่งร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด การส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และช่องทางตลาดอื่น ๆ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับบริษัทขนส่ง เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าด้านการเกษตรออนไลน์ สำหรับการจัดการระดับประเทศ ในกรณีของพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญซึ่งมีการบริหารจัดการทุกมิติอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการบริหารระดับประเทศ (บอร์ด) เช่น ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น กรมฯ จะดำเนินการนำเสนอบอร์ดที่กรมฯ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ และประสานงานกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของบอร์ดอื่น นำเสนอบอร์ดของชุดนั้นเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาโดยเร็ว