ปลูกกาแฟมาตรฐานอินทรีย์ตามแนวป่า แล้วนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “เดอม้ง” ก่อเกิดรายได้ยั่งยืนในชุมชน และความมั่นคงในการประกอบอาชีพทางการเกษตร คือผลสำเร็จที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านบนดอยมณีพฤกษ์ ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน
นายวิชัย กำเนิดมงคล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟเดอม้งมณีพฤกษ์ หมู่ที่ 11 ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวของเส้นทางการทำธุรกิจกาแฟไว้อย่างน่าสนใจว่า ตนเองเป็นชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาสูง ทำให้มีสภาพอากาศหนาวเย็น มีต้นไม้ปกคลุมเหมาะสำหรับการปลูกกาแฟเป็นอย่างยิ่ง จากความสนใจประกอบกับที่เรียนจบมาทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร จึงมีความตั้งใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ด้วยการเริ่มต้นปลูกกาแฟเพื่อจำหน่ายมาตั้งแต่ปลายปี 2558
“บ้านมณีพฤกษ์แต่เดิมนั้นเป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐบาลไทยมาก่อน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวม้งซึ่งอพยพมาจากประเทศจีน กระทั่งในปี พ.ศ. 2527 ทางการจึงได้เข้ามาพัฒนาและส่งเสริมอาชีพต่างๆให้ชาวไทยภูเขา นำเอาโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในลุ่มแม่น้ำน่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (พมพ.) เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักและดอกไม้เมืองหนาว อย่างสตรอเบอรี่ ลูกท้อ แต่พืชที่สร้างรายได้หลักคือกาแฟ ซึ่งปลูกกันอยู่หลายสายพันธุ์” วิชัย กล่าว
กาแฟเดอม้ง มีความโดดเด่นในเรื่องของสายพันธุ์อราบิก้าที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เกอิชา คาติมอร์ ทิปปิก้า จาวา ประกอบกับสภาพพื้นที่ที่ปลูกบนดอยสูง 1,400-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี และมีดินภูเขาไฟซึ่งมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง ทำให้เหมาะสมกับการปลูกกาแฟเป็นอย่างมาก นอกจากนี้จุดเด่นของกาแฟเดอม้งยังอยู่ที่การผลิตซึ่งเน้นความเป็นธรรมชาติ กรรมวิธีในการปลูกเป็นแบบอินทรีย์ไม่พึ่งพาสารเคมีในทุกขั้นตอน มีการทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง จนได้รับมาตรฐานการผลิต GAP รวมทั้งยังมีการยังส่งเสริมคนในชุมชนปลูกกาแฟไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ผืนป่า เนื่องจากกาแฟนั้นเป็นพืชที่ต้องปลูกภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านหันมาดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นมิตร ลดปัญหาการถางป่าทำไร่เลื่อนลอยที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไปได้
ด้านนายประพันธ์ จันทร์ผง เกษตรอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เล่าว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟเดอม้งมณีพฤกษ์เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตกาแฟเพื่อจำหน่าย โดยเริ่มต้นจากการรวมตัวของเกษตรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และขยายจำนวนสมาชิกเพื่อเข้าร่วมเป็นแปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เมื่อปี พ.ศ.2560 ปัจจุบันมีสมาชิก 76 ราย ซึ่งทางกลุ่มได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด และขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับใช้คั่วกาแฟ
ความสำเร็จอีกขั้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟเดอม้งมณีพฤกษ์ คือการคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภท Natural Process และ Honey Process จากการประกวด Thailand Special Coffee Awards 2021 มาครองได้ในปีนี้ ซึ่งรางวัลที่ได้นั้นวิชัยบอกว่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการผลิตกาแฟคุณภาพเพื่อจำหน่ายต่อไป
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟเดอม้งมณีพฤกษ์มีการบริหารจัดการภายในกลุ่มอย่างเป็นระบบ มีการหักเงินรายได้จากการจำหน่ายกาแฟ เพื่อนำมาพัฒนากลุ่มและสร้างศูนย์เรียนรู้ที่รวบรวมวัฒนธรรมของชาวม้งและความรู้เรื่องการผลิตกาแฟไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดีขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ผู้สนใจกาแฟคุณภาพเดอม้งสามารถสั่งซื้อได้ทาง Facebook : Coffee De Hmong กาแฟเดอม้ง หรือสอบถามได้ที่ 06 3562 6696