กรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมงานแถลงข่าวการจัดงานการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ประจำปี 2565 หรือ NECTEC-ACE 2022 ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมพัฒนาที่ดิน สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช. บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีกำหนดจัดงานการประชุมวิชาการและนิทรรศการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ประจำปี 2565 (NECTEC Annual Conference & Exhibitions 2022 : NECTEC ACE 2022) ในวันที่ 8 – 9 กันยายน 2565 ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ภายใต้แนวคิด ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า : Digital Technology for Sustainable Agriculture
ดร.สุรางค์ศรี วาเพชร ผู้อำนวยการกลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมด้านการเกษตร กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า งาน NECTEC-ACE 2022 จัดขึ้นเพื่อการพัฒนาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ในสาขาการเกษตรการส่งเสริมและผลักดันการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้งานได้จริงสำหรับภาครัฐภาคการเกษตรภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษานำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจในระดับประเทศได้อย่างยั่งยืน และเพื่อสร้างเวทีสำหรับการนำเสนอ การอภิปราย และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยกรมส่งเสริมการเกษตรและ NECTEC ได้มีความร่วมมือกันในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม และยกระดับการพัฒนาด้านการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาโดยตลอด “กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะที่มีบทบาทเป็นทั้ง Solution provider หรือหน่วยงานแก้ไขปัญหา และ Service provider หรือหน่วยงานให้บริการและช่วยเหลือเกษตรกร” ดังวิสัยทัศน์องค์กรที่ว่า “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีรายได้ที่มั่นคง” ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากหน่วยงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มปริมาณผลผลิต และคุณภาพสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและยกระดับภาคการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่” นอกจากนี้ ยังพิจารณาถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยการผลิตในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญและมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลน คือ น้ำ ตลอดจนกระแสการเปลี่ยนแปลงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีหรือเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Technology disruption) จึงได้มุ่งค้นหาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ดีเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและได้เลือกนำมาส่งเสริม คือ ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense เป็นผลงานวิจัยของเนคเทคที่สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำ แรงงาน เวลา และการบริหารจัดการการผลิตและการตลาด ทำให้ลดต้นทุน เพิ่มปริมาณ เพิ่มคุณภาพสินค้าเกษตร และบริหารจัดการผลิตและการตลาดได้
สำหรับโครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ และแนวคิด HandySense Open Innovation เป็นความร่วมมือกันเพื่อการช่วยเหลือสนับสนุนทั้งงานวิชาการ (Technical Assistant) แหล่งทุน (Financial Assistant) และการบริหารโครงการร่วมกันของกรมส่งเสริมการเกษตร เนคเทค และ ธ.ก.ส. โดยกระบวนงานการส่งเสริมการเกษตรที่ได้เริ่มดำเนินการมีทั้งการพัฒนาความรู้และทักษะบุคลากรด้านการเกษตรทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรมากกว่า 3,000 คน เพื่อสร้างการรับรู้ ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ HandySense ที่สำคัญได้สร้างแปลงเรียนรู้ต้นแบบระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense พร้อมกับวิทยากรประจำแปลงเรียนรู้ รวมจำนวน 16 จุด ประกอบด้วยแปลงเรียนรู้ของศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 6 และ 10 จุด ตามลำดับ จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรตื่นตัวและสนใจการใช้ประโยชน์ของ HandySense ตลอดจนมีประชาชน ข้าราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสนใจและเข้ามาศึกษาดูงานจำนวนมาก ซึ่งในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรจะสร้างแปลงเรียนรู้ต้นแบบเพิ่มเติมอีก 29 จุด รวมเป็น 45 จุด ทั่วประเทศ
ดร.สุรางค์ศรี กล่าวต่อว่า การจัดงาน NECTEC – ACE 2022 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรก็ได้มีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรที่นำผลงานวิจัยของเนคเทคมาขยายผลสู่การประยุกต์ใช้ของเกษตรกร คือ HandySense และร่วมกันพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ตลอดจนร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานของกรมส่งเสริมการเกษตรทั้งการประยุกต์ใช้ HandySense และผลงานส่งเสริมการเกษตรที่มุ่งสู่การเป็น Digital DOAE