“ลำไยแปลงใหญ่ทางรอดของเกษตรกร”

เกษตรชูต้นแบบแปลงใหญ่ลำไยลำพูน ผลิตลำไยคุณภาพเน้นรวมกลุ่มผลิต แปรรูปและจำหน่าย สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ด้านเกษตรกรชี้ตลาดลำไยคุณภาพยังไปได้สวย ผลผลิตไม่พอจำหน่าย

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตร โดยจัดทำโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่มีการบริหารจัดการร่วมกัน โดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิตเพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก

และ การใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร (Motor Pool) เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนการจัดการด้านการตลาด ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามศักยภาพ สู่การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรตามความต้องการตลาด ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน โดยหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวก เป็นการเพิ่มอำนาจ การต่อรองของเกษตรกรตลอดกระบวนการผลิต และตลอดโซ่อุปทาน

“ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจในแต่ละปีที่สร้างงานสร้างเงิน ทำรายได้ให้กับเกษตรเป็นจำนวนมาก ตนในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ด ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกลำไยตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ” ดร.เฉลิมชัยกล่าว

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2565 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนผู้ปลูกลำไย 138,656 ครัวเรือน 241,675 แปลง มีพื้นที่ปลูกลำไย 1,039,756 ไร่ เป็นลำไยที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 26,219 ไร่ เป็นลำไยที่มีอายุมากกว่า 5 ปี จำนวน 1,013,536 ไร่ ในส่วนของแปลงใหญ่ลำไยนั้น ปัจจุบันมี จำนวน 205 แปลง พื้นที่รวม 93,236 ไร่ จำนวนสมาชิก รวม 11,122 ราย โดยมีสมาชิกที่ได้รับ GAP รวม 7,505 ราย และเป็นลำไยอินทรีย์ รวม 57 ราย

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สนองนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการฯ ดร.เฉลิมชัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ปลูกลำไยในภาคเหนือที่ช่วงนี้เกษตรกรกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ โดยสั่งการให้เกษตรจังหวัดในพื้นที่เข้าไปดูแลเกษตรกรชาวสวนลำไยตั้งแต่การปลูกต่อเนื่องไปถึงการเก็บเกี่ยว ให้ได้ลำไยคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดมาโดยตลอด

นายวิชัย ตู้แก้ว เกษตรจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า สำหรับการทำงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนมีเกษตรแปลงใหญ่ทั้งหมด 82 แปลง เป็นแปลงใหญ่ลำไย 55 แปลง กระจายอยู่ทั้ง 8 อำเภอ แปลงใหญ่ลำไยตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นหนึ่งในแปลงใหญ่ ที่ได้มีการขับเคลื่อนงานการยกระดับแปลงใหญ่อย่างเต็มประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ดูแลการปลูก การรักษา การคัดคุณภาพ จนกระทั่งการแปรรูป อย่างตำบลป่าซาง มีเกษตรกรผู้ปลูกลำไย 385 ราย พื้นที่ปลูกลำไย 1,434 ไร่ ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตลำไยยังไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร และราคาลำไยตกต่ำ จึงมีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตลำไยเพื่อเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ใน ปี 62 เป็นกลุ่มลำไยแปลงใหญ่ตำบลป่าซาง

โดยสมาชิกในกลุ่มฯ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงร้อยละ 21.67 ผลผลิตลำไยของกลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.08 มีการวางแผนการผลิตเพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทำให้ผลผลิต มีราคาสูงได้ รวบรวมผลผลิตของสมาชิกในกลุ่มฯ เพื่อจำหน่าย และแปรรูปผลผลิตลำไยในช่วงที่มีลำไยออกสู่ตลาดมาก

สำหรับการวางเป้าหมายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยของจังหวัดลำพูน จะมุ่งเน้นที่การลดปริมาณผลผลิตลำไยในฤดูกาลผลิต แต่จะเน้นการเพิ่มการผลิตลำไยนอกฤดูจากสัดส่วน 70:30 เป็น 65:35 ในฤดูกาลผลิต 2565/2566 เพื่อยกระดับรายได้จากการผลิตลำไยให้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตเป็น 50:50 ให้ได้ภายในปีการผลิต 2566-2570 ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนลำไยสูงอายุที่ให้ผลผลิตและคุณภาพต่ำ เป็นพืชที่ตลาดต้องการมีมูลค่าสูง เป้าหมาย 10% ของพื้นที่ปลูก เช่น การส่งเสริมผลิตลำไยอัตลักษณ์ของจังหวัดลำพูน ได้แก่ ลำไยสายพันธุ์เบี้ยวเขียว, ส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกหรือพืชแซมในสวนลำไยเพื่อสร้างรายได้

นอกจากนั้นยังจัดกิจกรรมรณณรงค์เตรียมความพร้อมของเกษตรกรในการรวมกลุ่มเพื่อเข้าสู่ระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้เพิ่มขึ้น เป้าหมาย 50% ของพื้นที่ปลูกลำไย เพื่อเพิ่มความมั่นคงเข้มแข็งให้ได้ภายในปี 2566-2570 และจัดเตรียมเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ให้ได้อย่างน้อย 80% ของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจังหวัดลำพูน ภายในปี 2566-2570

ทั้งนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนจะดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้บริโภคลำไยผลสดให้กระจายทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดการพึ่งพาการแปรรูปของโรงงานที่ควบคุมราคาทั้งระบบ การสร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต เจ้าของกิจการรวบรวมผลผลิต (ล้ง) และโรงงานแปรรูป ร่วมกันยกระดับการผลิตลำไยอย่างเป็นระบบ และเชื่อมโยงข้อมูลในรูปแบบการผลิตพืชอุตสาหกรรม

ด้านนางสุมิตรา ไชยเวียง เลขานุการกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า “ แปลงใหญ่ลำไยตำบลป่าซาง สมาชิกจำนวน 32 ราย พื้นที่ 283.25 ไร่ สิ่งที่เกษตรร่วมคิดร่วมกันทำคือ ในการผลิตจะลดการใช้ปุ๋ยเคมีและปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยหมัก การผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาคุณภาพผลผลผลิตให้มีผลขนาดใหญ่ จนได้การรับรองมาตรฐาน GAP ในด้านการตลาด มีการจำหน่ายผลผลิตลำไยสดให้กับสหกรณ์ส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำไปจำหน่ายให้กับ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)

โดยจำหน่ายเป็นลำไยสดช่อ โดยมีการจัดทำข้อตกลงชื้อขายล่วงหน้า จำนวน 315 ตันต่อปี และกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยตำบลป่าซาง ยังจำหน่ายสินค้าผ่านระบบ Online ผ่านช่องทาง Facebook : สหกรณ์ส่งเสริมเกษตรกรป่าซาง จำกัด, Sumitra Chaiwieng , Line : Sumitra Chaiwieng Shopee : pasang natural

นอกจากนี้ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการทำวิจัยเรื่อง การอบลำไย โดยการใช้ตู้อบลมร้อน 24 ถาด ระบบแก๊สในการอบลำไย และกล้วย สร้างลำไยให้เป็นสินค้านวัตกรรม คือการนำลำไยสดมาอบแห้งเป็นลำไยอบแห้งเนื้อสีทองที่มีสีสวยหอมและหวาน รสชาติเสมือนได้กินลำไยสด และสามารถเก็บไว้ได้นาน การทำลำไยผงซึ่งนำลำไยที่อบจนแห้งสนิทนำมาบดเป็นผงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชงดื่ม หรือผสมกับเครื่องดื่มอื่นๆเพื่อเพิ่มรสชาติ ผสมในขนมเพื่อให้ได้รสชาติของลำไย การทำน้ำตาลลำไยคือการทำน้ำลำไยแล้วนำมาเคี่ยวให้ตกผลึกผลิตเป็นน้ำตาลลำไย ใช้แทนน้ำตาลทั่วไปจำหน่ายผ่านระบบ Online ผ่านช่องทาง Facebook : สหกรณ์ส่งเสริมเกษตรกรป่าซาง จำกัด, Sumitra Chaiwieng Line : Sumitra Chaiwieng Shopee : pasang natural

นอกจากนั้นกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยป่าซาง ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีในแปลง ได้แก่ กล้วยน้ำว้า และมะม่วง มาผลิตเป็นกล้วยผง ชงดื่มเพื่อคนรักสุขภาพ บรรเทาอาการของโรคกระเพาะ และแปรรูปมะม่วงเป็นมะม่วงอบแห้งกลุ่มยังพัฒนาคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐาน อย และมาตรฐาน GMP เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีคุณภาพ สะอาดปลอดภัย

“เราได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งการเป็นพี่เลี้ยงและงบประมาณต่างๆมาโดยตลอดอย่างโครงการยกระดับแปลงใหญ่เราได้เครื่องอบลำไย มาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าต่างๆ สิ่งที่อยากบอกพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยคือ วันนี้ตลาดลำไยยังไม่ตาย ลำไยคุณภาพตลาดยังต้องการมาก ทุกวันนี้แทบไม่มีส่งขาย เกษตรกรต้องปรับตัวเองเช่นกัน ทำลำไยคุณภาพให้มากขึ้น ถึงจะอยู่รอด” นางสุมิตรากล่าว