กรมส่งเสริมการเกษตรแนะเกษตรกรสวนลำไย เลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริม ชูต้นแบบวิสาหกิจชุมชนฯ ลำพูน พัฒนาต่อยอดผลิตและแปรรูปน้ำผึ้ง จากสวนลำไยออร์แกนิกสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีเมืองลำพูน
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จังหวัดลำพูน จังหวัดลำพูนมีพื้นที่ปลูกลำไย 357943 ไร่ เกษตรกร 54,535 ราย มีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาด 381,748 ตัน แบ่งเป็นในฤดูกว่า 2.7 แสนตัน และลำไยนอกฤดูอีกกว่า 1.2 แสนตัน กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้มีการจัดทำแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ อย่างการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนลำไยให้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน รวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ รวมไปถึงการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเกษตรกรคู่ขนานกับการทำสวนลำไย เช่น การเลี้ยงผึ้งในสวนลำไย ซึ่งในแต่ละปีเกษตรกรสามารถขายน้ำผึ้งคุณภาพเป็นรายได้เพิ่ม นอกจากนั้นยังทำให้การเพิ่มผลผลิตลำไยในสวนมากขึ้นด้วย
นางพัชณี วงษาฝั้น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำสวนเพื่อการผลิตและแปรรูปผลผลิตเกษตร อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ ได้ ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกเกษตรกรชาวสวนลำไยในพื้นที่ เมื่อปี พ.ศ.2550 เพื่อแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำอย่างมากเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยได้รวมตัวทำธุรกิจเกี่ยวกับลำไยสดและลำไยอบแห้งทั้งเปลือก เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาและปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งสมาชิกส่วนใหญ่มีปัญหาราคาลำไยตกต่ำ เป็นปัญหาที่มักจะเกิดซ้ำๆทุกปี นับตั้งแต่ปี 2548 อันเป็นช่วงผลผลิตออกมาจำนวนมากในฤดูกาล
วิสาหกิจชุมชนฯ จึงรวมตัวทำผลผลิต เริ่มจากการพัฒนาคุณภาพของลำไยให้มีคุณภาพ ลูกโตผิวสวย และการอบลำไยทั้งเปลือกให้มีคุณภาพดี แต่ราคายังเป็นไปตามที่พ่อค้ากำหนด จึงทำให้ราคาถูกเช่นเดิม เกษตรชาวสวนลำไยต่างท้อแท้ที่จะทำสวนลำไยต่อไป ลูกหลานต้องออกทำงานต่างถิ่น ไม่มีงานในชุมชนให้ทำเนื่องจากไม่มีการจ้างงานในสวนลำไย
ต่อมาสมาชิกกลุ่มฯ ได้ปรึกษาหารือกันจากปัญหาดังกล่าว และเห็นว่าสมาชิกกลุ่มฯแต่ละคนต่างมีสวนลำไยจำนวนมาก รวมกันหลายพันไร่ จึงได้เสนอการเลี้ยงผึ้งในสวนลำไย เพื่อให้ได้น้ำผึ้งจากดอกลำไยออกจำหน่าย เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้จากวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน เป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สามารถสร้างอาชีพ สร้างการจ้างงานได้ สร้างรายได้
ทั้งนี้ในทางการเกษตร ผึ้ง เป็นแมลงที่ช่วยในการผสมเกสร เพิ่มจำนวนผลผลิตต่อไร่ ทั้งในพืชไร่และพืชสวน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้ง ได้แก่ น้ำผึ้ง นมผึ้ง เกสรผึ้ง ไขผึ้ง พรอพอริส เป็นต้น โดยสมาชิกในกลุ่มต่างก็เห็นประโยชน์ของโครงการ เพราะเป็นการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่สมาชิกและชาวบ้าน จึงดำเนินการพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้เพิ่มเติม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานทรัพยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่น
“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอป่าซาง สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน ให้มีการรวมกลุ่มและพัฒนาอาชีพ จากเดิมที่มีแต่ลำไยสด ลำไยอบแห้งทั้งเปลือกและลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง เราจึงเพิ่มการเลี้ยงผึ้ง โดยมีศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ (ผึ้ง) จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาช่วยพัฒนาความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และผลิตน้ำผึ้งจากดอกลำไยบรรจุขวดเพื่อจำหน่าย โดยเริ่มปี 2553 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ได้รับรองมาตรฐานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูนโดยได้การรับรองมาตรฐานสถานที่ผลิตที่ดี (GMP) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งยังได้รับใบอนุญาตผลิตอาหาร (อย.) อีกด้วย มาตรฐานดังกล่าวจึงสามารถการันตีได้ว่า ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งจากดอกลำไยของเรานั้น สะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพ สามารถจำหน่ายเพิ่มรายได้อย่างดี ทั้งมีช่องทางการตลาดมากมาย” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯกล่าว
ด้านนายศหวัณย์ วงษาฝั้น รองประธานกลุ่มฯ และ เกษตรกรรุ่นใหม่ young smart farmer ของกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 วิสาหกิจชุมชนฯ ได้จดทะเบียนเป็น บริษัทจำกัด โดยใช้ชื่อว่า บริษัทแสงผึ้งทรัพย์ทวี จำกัด มีจุดมุ่งหมายให้เป็นสะพานเชื่อมการตลาดให้ก้าวไกล เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนสู่นิติบุคคล ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนฯ มีการพัฒนาสินค้าชุมชน น้ำผึ้ง และ ลำไย ให้มีความหลากหลายได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำสวนเพื่อการผลิตและแปรรูปผลผลิตเกษตร เรามีเกษตรลำพูนเป็นพี่เลี้ยง ได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากกระบวนการเรียนรู้ในการรู้จักตนเอง เพื่อทราบศักยภาพและขีดจำกัดตนเองและชุมชน และเรียนรู้เพิ่มเติมจากภายนอกอย่างเป็นระบบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสมาชิกภายในวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะสมาชิกที่ไปอบรมจากภายนอกจะกลับมาถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับรวมถึงมีการฝึกอบรมและศึกษาดูงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ให้แก่สมาชิก มุ่งหวังให้สมาชิกใช้เทคโนโลยีให้ทันสมัย และให้เกิดความชำนาญสูงสุด
โดยวิสาหกิจชุมชนฯ ได้นำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมมาปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เป็นที่ต้องการของตลาด พัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น โดยการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมานาน มาสร้างความโดดเด่นเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ได้แก่ GAP CODEX , HACCP ปัจจุบันมีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรหลายอย่าง ได้แก่ ลำไยอบแห้งทั้งเปลือก, ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง, น้ำลำไยสกัดเข้มข้น,แยมลำไย, น้ำผึ้งผสมมะนาว, โลชั่นน้ำผึ้งบำรุงมือ, เซรั่มนมผึ้งและกัมมี่น้ำผึ้ง เป็นต้น
นายศหวัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำสวนเพื่อการผลิตและแปรรูปผลผลิตเกษตร ตำบลน้ำดิบ จุดขายที่สำคัญของน้ำผึ้ง คือ เลี้ยงผึ้งในสวนลำไยออร์แกนิกปราศจากสารเคมี ทำให้ลูกค้าวางใจได้ในเรื่องของความปลอดภัยและคุณภาพของน้ำผึ้งที่ได้ จากน้ำผึ้งแท้ 100 เปอร์เซ็นต์