โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ที่ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับการประเมินระดับA หรือดีมาก พร้อมเดินหน้าสนับสนุนแปลงใหญ่ต่อเนื่อง และประสานสถาบันการเงินเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงผลการประเมินโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ที่ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมที่มีความหลากหลายมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการแปลงใหญ่ว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับ A หรือดีมาก โดยได้ 2.72 คะแนน (ระดับ A คะแนน 2.50 – 3.00) และภาพรวมของแผนงานหรือโครงการอยู่ในระดับดีมากเช่นกัน โดยได้ 2.67 คะแนน ซึ่งเป็นการประเมินโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และบริษัท ทริส คอร์เปอเรชั่น จำกัด ตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563(แผนงาน/โครงการกลุ่มที่3 จำนวน 329 โครงการ)
เช่นเดียวกับแผนงาน/โครงการกลุ่มที่1 ที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณะสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนาฯ จำนวน 51 โครงการ และแผนงาน/โครงการกลุ่มที่2 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้กับภาคเอกชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนาฯ จำนวน 20 โครงการ ได้ระดับดีมากเช่นกัน โดยได้ 2.84 และ 2.75 ตามลำดับ
สำหรับโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด นอกจากนี้มีเป้าหมายให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรมมาใช้ในแปลงเกษตรแล้ว ยังต้องการสร้างความร่วมมือเชื่อมโยงไปยังช่องทางการตลาดที่หลากหลาย วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ลดต้นทุนการผลิต กระบวนการผลิตต้องมีมาตรฐาน ความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ นำไปสู่การผลิตรูปแบบใหม่ ผลักดันสู่เกษตรอัจฉริยะ และเกษตรแม่นยำ เพื่อการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนของเกษตรกรทั่วประเทศ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การดำเนินงานแปลงใหญ่ที่ผ่านมา พบว่ามีปัญหาที่ควบคุมไม่ได้อยู่บ้าง เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาดโควิด และการได้รับงบประมาณล่าช้าไม่ทันฤดูกาลผลิต โดยกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมรับข้อเสนอแนะจากทีมประเมินเพื่อดำเนินการต่อในเรื่องต่าง ๆ เช่น 1.เพิ่มแผนสำรองหรือแผนบริหารความเสี่ยงกรณีได้รับงบประมาณล่าช้า 2.สนับสนุนโครงการเกษตรแปลงใหญ่ต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นการพัฒนาพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม และช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร 3. ให้ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย นิติบุคคล การเงิน อย่างต่อเนื่อง 4.ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มแปลงใหญ่ทุกแปลงมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อรองรับมาตรการ หรือโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐจะมีการส่งเสริมในอนาคต เช่น สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพัฒนาความรู้และทักษะต่างๆ และเงินอุดหนุน อื่นๆ และ5.ให้ความรู้ด้านการเงิน หรือประสานสถาบันการเงิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย