โครงการถั่วเหลืองฝักสด ปลดหนี้เกษตรกร ของกลุ่มแปลงใหญ่ถั่วเหลืองฝักสด ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี เข้าร่วมประกวดลุ้นรับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2566 ประเภทร่วมใจแก้จน (Collaboration towards Poverty Eradication) ในระดับดีเด่น จากสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า พื้นที่ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานีมีการทำนากันอย่างต่อเนื่องมานาน โดยในรอบหนึ่งปีเกษตรกรจะทำนา 2-3 ครั้ง จึงทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม เนื่องจากขาดการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ผลผลิตตกต่ำ สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาสำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานีและเกษตรกรจึงริเริ่มปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชในชุมชน ด้วยการปลูกพืชที่มีอายุสั้น ให้ผลผลิตสูง ราคาดี มีตลาดรองรับที่แน่นอน และสามารถช่วยฟื้นฟูและปรับปรุงสภาพดินได้ สลับกับการทำนาในช่วงฤดูแล้ง จนในที่สุดก็พบว่า ถั่วเหลืองฝักสด หรือถั่วแระญี่ปุ่น คือคำตอบ เพราะมีอายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 68-70 วัน ปลูกง่าย และราคาดี ดังนั้นเกษตรกรในชุมชนที่สนใจจึงรวมกลุ่มกันมาปลูกถั่วเหลืองฝักสดทดแทนข้าวนาปรัง โดยใช้ชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกถั่วเหลืองฝักสดอุทัยธานี” เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 และเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปี 2560
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า กลุ่มแปลงใหญ่ถั่วเหลืองฝักสดนี้ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง โดยร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุทัยธานี สถานีพัฒนาที่ดินอุทัยธานี ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และพัฒนาคุณภาพ/มาตรฐานสินค้าเกษตร GAP ตลอดจนสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่สมาชิกกลุ่มในรูปแบบรวมกันซื้อจะทำให้ได้ราคาที่ถูกลง ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง
ในส่วนของกลางทางร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุทัยธานี แปรรูปผลผลิตตกเกรด โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยทำเป็นสารสกัดจากเมล็ดถั่วเหลืองฝักสดนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิว สหกรณ์การเกษตรห้วยคต นำเมล็ดถั่วเหลืองที่ตกเกรดมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นน้ำนมถั่วแระญี่ปุ่นพร้อมดื่ม สารสกัดจากเมล็ดถั่วเหลืองนำไปทำเซรั่มบำรุงผิว เป็นต้น และสร้างแบรนด์เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน นอกจากนั้น ส่วนที่เป็นของเสียจากกระบวนการคัดแยกซึ่งมีปริมาณมาก ได้นำมาทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูง เพื่อนำกลับไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินต่อไป นอกจากนี้ กลุ่มยังมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ในชุมชน เช่น กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ นำส่วนของผลผลิตที่ตกเกรด และต้นถั่วเหลือง นำมาทำอาหารสัตว์ ส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงโค และกระบือ
สำหรับปลายทางมีการเชื่อมโยงตลาด ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบริษัทลานนาเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเข้ามารับซื้อผลผลิตในพื้นที่ตามคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนด ในราคากิโลกรัมละ 17 บาท (ผลผลิตเฉลี่ย 1,200 กก./ไร่) เพื่อนำไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ตลาดหลัก คือ ประเทศญี่ปุ่น นับว่าถั่วเหลืองฝักสดสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของจังหวัดอุทัยธานี ฤดูกาลละไม่น้อยกว่า 27 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานในพื้นที่ช่วงฤดูกาลเพาะปลูก-เก็บเกี่ยวมากกว่า 200 คน ทำให้เกิดการกระจายรายได้ในชุมชนมากกว่า 600,000 บาท/ฤดูกาล (ช่วงการเพาะปลูกเริ่มเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ของทุกปี)
“หลังจากมีการดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองฝักสดในพื้นที่อำเภอหนองฉาง ทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น เกษตรกรเกิดความภาคภูมิใจ และเป็นกลุ่มต้นแบบในการศึกษาดูงานของเกษตรกรทั้งภายในและนอกจังหวัด ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ชุมชนได้รับการสนับสนุนแหล่งน้ำบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรและสูบน้ำโดยใช้ระบบโซล่าเซลล์ ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอทั้งเพื่อการอุปโภคและบริโภคสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงด้านการประกอบอาชีพและความอบอุ่นในครอบครัว รวมถึงมีเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำให้สมาชิกได้กู้ยืมไปใช้ในการลงทุนทำการผลิตในแต่ละฤดูกาล ทำให้สมาชิกเป็นหนี้นอกระบบลดน้อยลง” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
สำหรับการปลูกถั่วเหลืองฝักสด สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ เพราะเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง อีกทั้งยังเป็นพืชอายุสั้น และใช้น้ำน้อย เฉลี่ยเพียง 550 ลบ.ม./ไร่ ในขณะที่ข้าวนาปรัง มีอายุการเก็บเกี่ยว 120 วัน ต้องการใช้น้ำมากถึง 1,400 ลบ.ม./ไร่ จึงใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตน้อยแต่มีประสิทธิภาพ และได้รับผลตอบแทนต่อพื้นที่สูงกว่าข้าวนาปรัง และไม่มีการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เศษเหลือที่เป็นของเสียหรือตกเกรดสามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นอาหารคน และอาหารสัตว์ หรือปุ๋ยเป็นอาหารพืช กลับลงไปในดินอีกครั้ง การใช้สารเคมีต่างๆ ในกระบวนการผลิต อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ โดยให้มีการใช้อย่างถูกต้องปลอดภัยตามระบบรับรองมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ถั่วเหลืองฝักสด ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน GAP จำนวน 29 ราย จากกระบวนการผลิตดังกล่าว ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับจากผู้รับซื้อผลผลิตทั้งในและต่างประเทศ