กรมส่งเสริมการเกษตรชูสวนลุงสงค์ต้นแบบเพิ่มมูลค่าสวนมะพร้าวอินทรีย์

กรมส่งเสริมการเกษตร ยกสวนลุงสงค์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้นแบบการแปรรูปมะพร้าวอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์เด่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สำหรับคนรักสุขภาพ พร้อมเปิดสวนเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สามารถดึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าพื้นที่ได้จำนวนมาก 

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “สวนลุงสงค์” ของนายสมประสงค์ ศรีเทพ เจ้าของสวนมะพร้าวอินทรีย์ ตำบลบางใบไม้ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี เป็นสวนต้นแบบในการนำผลผลิตมะพร้าวจากชุมชนมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ปัจจุบันมีนายศุภชาติ ศรีเทพ บุตรชายของลุงสงค์ Smart Farmer และเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวนระดับจังหวัด เป็นผู้บริหารสวน โดยนำมะพร้าวอินทรีย์ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งมีทั้งแบบเป็นน้ำมัน และแคปซูล เป็นไขมันดี หรือ HDL หากบริโภคเป็นประจำจะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีไขมันดีเพิ่มขึ้น โดยตั้งราคาขายอยู่ที่ขวดละ 100-600 บาท ส่วนน้ำมันปรุงอาหาร ขายขวดละ 130-250 บาท นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีก จำนวนมาก เช่น เจลอาบน้ำ สบู่ โลชั่น ครีมบำรุงต่าง ๆ และเซรั่มน้ำมันมะพร้าว เป็นต้น

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากสวนลุงสงค์จะเป็นต้นแบบในการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่ให้กับชุมชนอีกด้วย โดยใช้แนวคิดทำให้วัตถุดิบปราศจากของเสียเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste หรือ ทุกส่วนของมะพร้าวนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งหมด ไม่มีส่วนไหนต้องทิ้ง และยังเป็นแกนนำทางความคิดในการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนคนในบาง ในการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และกระจายรายได้ให้ชาวชุมชนทั้ง 6 ตำบลในพื้นที่ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้สถานที่บ้านของตนเองเป็นจุดรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกเพื่อเป็นของฝากของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว มีทั้ง นักเรียน นักศึกษา กลุ่มศึกษาดูงาน องค์กร และนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมาเที่ยวและศึกษาดูงานจำนวนมาก ถือเป็นต้นแบบสวนมะพร้าวอินทรีย์และผู้นำในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตด้านการเกษตรอย่างแท้จริง

ด้านนายศุภชาติ ศรีเทพ บุตรชายและผู้บริหารสวนลุงสงค์ กล่าวว่า ถ้าจำหน่ายเฉพาะลูกมะพร้าวจะได้ราคาลูกล่ะ 10-15 บาท หรือน้อยกว่านี้ เพราะผลผลิตมีจำนวนมากและราคาผันผวน ดังนั้นจึงคิดต่อยอดเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป จากภูมิปัญญาดั้งเดิมในสมัยก่อน ทดลองทำจำหน่ายในรูปแบบน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น จากนั้นก็เน้นกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน เพื่อการันตีคุณภาพ ทั้งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) มาตรฐาน GAP มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก ภายใต้แบรนด์พร้าวไทย “Prow Thai” by สวนลุงสงค์ และได้รางวัลมากมาย เช่น เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวนระดับจังหวัด และแพทย์แผนไทยสุราษฎร์ธานี นอกจากนั้นยังมีมาตรฐานที่แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน เช่น มาตรฐานคาร์บอนฟรุตปริ้น (carbon footprint)

ส่วนการแปรรูปมะพร้าว และทำให้วัตถุดิบปราศจากของเสียเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste มีดังนี้ 1) เนื้อมะพร้าว ใช้เป็นส่วนประกอบของขนมบ้าบิ่น ขนมมะพร้าวแก้วเกล็ดหิมะ คั้นน้ำกะทิทำเป็นไอศกรีม น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นและน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อน ส่วนที่เหลือจากการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นนำมาทำเป็น นมมะพร้าว และโปรตีนมะพร้าว โดยน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อีกกว่า 20 รายการ เช่น 1) เจลอาบน้ำ สบู่ โลชั่น ครีมบำรุงต่าง ๆ และมีการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ผลิตสินค้าเพิ่มเติมอีก ได้แก่ แผ่นเช็ดเครื่องสำอาง น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแคปซูล และเซรั่มน้ำมันมะพร้าว 2) กากมะพร้าวที่เหลือจากการทำน้ำมันมะพร้าวนำมาทำขนมคุกกี้ แป้งมะพร้าว และ สปากากมะพร้าว 3) น้ำมะพร้าว นำมาทำน้ำส้มสายชูหมัก และจุลินทรีย์น้ำมะพร้าว 4) จั่นมะพร้าว ทำน้ำตาลมะพร้าว 5) กะลามะพร้าว นำมาทำของใช้ของที่ระลึกเช่น ช้อน ภาชนะ พวงกุญแจ กะลามะพร้าวนวดเท้า ถ่านกะลามะพร้าว 6) กาบมะพร้าว ทำวัสดุปลูกส่งต่อเข้าโรงงานแยกขุย และแยกใยมะพร้าว 7) ทางมะพร้าวส่วนที่เรียกว่าโป่ง เอามาทำเป็นที่ดัดเท้า วาดงานศิลปะ ย่อยเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในสวน 8) ก้านและใบมะพร้าว นำมาสานเป็นภาชนะเสวียนหม้อ และทำไม้กวาด 9) ลำต้น ทำเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ต่าง ๆ และ 10) มะพร้าวหน่อ นำมาทำเป็นบอนไซมะพร้าว