นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการผลิตทุเรียนไทยที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงต้นฤดูกาลทุเรียนปี 2567 นี้ จะมีการดำเนินงานตามมาตรการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนอย่างเข้มงวด ซึ่งที่ผ่านมาภาคตะวันออก มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ถึงแม้ปีที่ผ่านมาจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ดีการเฝ้าระวังความเสี่ยง ปัญหาทุเรียนอ่อนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งส่งผลด้านลบต่อภาพลักษณ์ทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค และสร้างความเสียหายต่อธุรกิจการค้าทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่การผลิตทุเรียน กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันดำเนินการป้องกันทุเรียนอ่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ มีผลผลิตออกสู่ตลาดก่อนพื้นที่อื่น ในขณะที่ช่วงต้นฤดูผลผลิตยังน้อย แต่ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสูง โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรวางแนวทางการบริหารจัดการทุเรียนเพื่อการส่งออกภาคตะวันออก กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2567 เพื่อใช้เป็นกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานตามมาตรการฯ เพื่อให้ผลผลิตทุเรียนที่ออกสู่ตลาดมีคุณภาพ คือ พันธุ์กระดุม วันที่ 15 เมษายน 2567 พันธุ์ชะนี และพวงมณี วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 พันธุ์หมอนทอง วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 โดยได้กำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ไว้ ดังนี้ 1) พันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์ 2) พันธุ์ชะนี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ 3) พันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และ 4) พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ อ้างอิงตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ทุเรียน (มกษ. 3-2556)
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดจะเป็นหน่วยรับผิดชอบในการจัดทำประกาศร่วมกับจังหวัดต่อไป ในส่วนของเกษตรกรได้มีการขอความร่วมมือก่อนจะเก็บเกี่ยวตามวันประกาศฯ ให้นำตัวอย่างผลทุเรียนที่จะทำการเก็บเกี่ยวมาให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสถานที่ที่กำหนด เพื่อทำการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนเพื่อออกใบรับรองการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน สำหรับใช้แนบไปกับรถขนส่งทุเรียนไปที่ล้ง/โรงคัดบรรจุซึ่งแต่ละจังหวัดอาจมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่แตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ จึงขอให้ดำเนินการตามประกาศของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอเน้นย้ำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกษตรกรใช้บริหารจัดการสวนเพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพในแต่ละปี ดังนี้ 1) ตรวจวิเคราะห์ดินและใบพืชเพื่อสามารถให้ปุ๋ยตามผลการวิเคราะห์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและไม่เกิดผลเสียต่อดิน 2) ตัดแต่งช่อดอกและผล เพื่อให้ได้ผลทุเรียนที่มีคุณภาพช่วยลดการใช้ปุ๋ย และง่ายต่อการดูแลรักษา 3) ให้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับช่วงเวลาในการพัฒนาผล จะช่วยให้ประหยัดต้นทุนและแรงงานในการจัดการ 4) ช่วยผสมเกสรในช่วงเวลาดอกบานพร้อมผสม (ประมาณ 19.00 น.) ช่วยให้ทุเรียนรูปทรงสวยเต็มทรง เป็นที่ต้องการของตลาด และ 5) เก็บเกี่ยวทุเรียนที่สุกแก่เหมาะสม พร้อมจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพส่งถึงผู้บริโภค จึงขอให้เกษตรกรเฝ้าระวัง และติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาการและคุณภาพของผลทุเรียนอย่างต่อเนื่อง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้ความรู้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงข้อมูลในทุกปี เพื่อให้ภาครัฐสามารถวางแผนการผลิต การตลาด ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และจัดทำโครงการตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรมีการขอรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) เพื่อให้ได้ผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และยังส่งผลดีต่อการส่งออกทุเรียนไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีข้อกำหนดขั้นตอนการส่งผลไม้สดจากไทยไปจีนที่เข้มงวด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคู่ค้าและผู้บริโภค ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และวิธีการขอใบรับรองมาตรฐาน GAP ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
…
พีรมณฑ์ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ; ข่าว
กลุ่มส่งเสริมไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร ; ข้อมูล