กรมส่งเสริมการเกษตร ถ่ายทอดความรู้การปลูกพืชใช้น้ำน้อย จัดเวทีชุมชน ผ่านโรงเรียนเกษตรทางไกล หลักสูตร “พืชสู้แล้งเงินล้าน”

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้เผยผลการศึกษาปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อน และต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ สภาพอากาศแปรปรวน ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้คาดว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2567 จะส่งผลให้เกิดสถานการณ์แห้งแล้งในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย เกษตรกรขาดรายได้ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซาก
นอกเขตชลประทานอาจได้รับผลกระทบรุนแรง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงเป็นการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้พอเพียงในการเลี้ยงชีพและครอบครัว โดยการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรมีความรู้สามารถปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่มีศักยภาพได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งข้อดีของการปลูกพืชใช้น้ำน้อย คือ เป็นพืชที่ต้องการใช้น้ำต่อรอบฤดูปลูกน้อย มีตลาดรองรับ และสร้างกำไรให้แก่เกษตรกรได้
เป็นอย่างดี โดยพืชใช้น้ำน้อยสามารถปลูกในพื้นที่นาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว (ช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปลูกพืชใช้น้ำน้อย
ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่เกษตรกร ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในการปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ  กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดกิจกรรมโรงเรียนเกษตรทางไกลขึ้น มีพื้นที่ดำเนินการหลักใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  สระบุรี  ชัยนาท และอ่างทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่สำคัญ ประกอบกับเกษตรกรในพื้นที่มีความสนใจในการปลูกพืชใช้น้ำน้อยต้องการนำมาพัฒนาเป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการรายได้ของเกษตรกร การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีมาจัดการแปลง และเสริมสร้างทักษะด้านการปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม 5 ชนิด ได้แก่ แตงโม ถั่วลิสง ฟักทอง ถั่วเขียวผิวมัน และกระเจี๊ยบเขียว และกำหนดจัดในรูปแบบเวทีชุมชน จำนวน 5 ครั้ง ในพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครถ่ายเรื่องแตงโม จังหวัดสระบุรีถ่ายทอดเรื่องถั่วลิสง จังหวัดชัยนาทถ่ายทอดเรื่องฟักทอง และถั่วเขียว และจังหวัดอ่างทองเรื่อง กระเจี๊ยบเขียว ซึ่งการกำหนดหลักสูตรในแต่ละพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้วิเคราะห์จุดจัดกิจกรรมเรียนรู้ในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม ไม่มีน้ำแฉะขัง ระบายน้ำได้ดี และไม่ได้รับผลกระทบจากการจัดการน้ำที่อาจมีมากเกินไปจากการทำนาปรังของพื้นที่ข้างเคียงในการเพาะปลูกพืชทั้ง 5 ชนิด รวมทั้งมีความสะดวกต่อการขนส่งผลผลิต นอกจากนี้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถบริหารจัดการพื้นที่ และบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีองค์ความรู้ด้านการผลิตที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่เกษตรกรด้วยกันได้ อีกทั้งพื้นที่นั้น ๆ ยังมีตลาดรองรับไม่เป็นปัญหาผลผลิตล้นตลาด

สำหรับเวทีชุมชนที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดกิจกรรมในพื้นที่เป้าหมาย 3 แห่ง โดยแห่งแรกจัดขึ้น ณ ที่ทำการกำนันตำบลไผ่วง หมู่ที่ 1 ตำบลไผ่วง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ให้ความรู้เรื่อง “เทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบเขียว เพื่อการส่งออก” และการแปรรูปข้าวเกรียบจากกระเจี๊ยบเขียว โดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร แห่งที่ 2 จัดขึ้น ณ ศาลากองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 20 ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ให้ความรู้เรื่อง “เทคนิคปลูกฟักทองง่าย ๆ ได้ผลผลิตดีงาม” และแห่งที่ 3 จัดขึ้น ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลหนองขุ่น อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ให้ความรู้เรื่อง “ปลูกถั่วเขียว ดินดีรายได้งาม” โดยได้รับความสนใจจากเกษตรกรในพื้นที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมแห่งละ 30 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีความประสงค์ต้องการปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 พร้อมทั้งมีการไลฟ์สดผ่าน Facebook Fanpage : AM1386 สถานีวิทยุเพื่อการเกษตร และแชร์ผ่าน Facebook Fanpage : กรมส่งเสริมการเกษตร  เพื่อให้เกษตรกรผู้เรียนโรงเรียนเกษตรทางไกล หลักสูตร “พืชสู้แล้งเงินล้าน” ที่ลงทะเบียนจำนวน 1,221 คน และผู้ที่สนใจในพื้นที่อื่น ๆ สามารถรับชมการบรรยายในกิจกรรมนี้ไปพร้อมกันได้อีกด้วย

สำหรับการจัดเวทีชุมชนกิจกรรมโรงเรียนเกษตรทางไกล หลักสูตร “พืชสู้แล้งเงินล้าน” ในครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในพื้นที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ให้ความรู้เรื่อง แตงโม และแห่งที่ 5 คือ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ในวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 ให้ความรู้เรื่องถั่วลิสง ทั้งนี้ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการเกษตรจะทำการประชาสัมพันธ์รายละเอียดกิจกรรมให้ทราบผ่านทาง Facebook Fanpage : AM1386 สถานีวิทยุเพื่อการเกษตร Facebook Fanpage : กรมส่งเสริมการเกษตร และเว็บไซต์ www.am1386.com  เพื่อให้ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมได้ต่อไป

************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว

กลุ่มวิทยุกระจายเสียงเพื่อการเกษตร : ข้อมูล