กรมส่งเสริมการเกษตรโชว์ผลงานการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร “ลำไย มะม่วง จ.ลำพูน” ผลิตเน้นคุณภาพ สร้างความแตกต่าง เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จังหวัดลำพูนมีเกษตรกรผู้ปลูกลำไย จำนวน 52,947 ราย พื้นที่ปลูก 362,375 ไร่ คาดการณ์ผลผลิตในปี 2567 จำนวน 384,608 ตัน แบ่งเป็นลำไยในฤดู ร้อยละ 68 และลำไยนอกฤดู ร้อยละ 32 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนได้ส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพมาตรฐาน GAP เพื่อสร้างความแตกต่างด้านคุณภาพสินค้าเกษตรและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในการผลิตลำไยเพื่อการส่งออก ทำให้มีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจนเป็นผู้ประกอบการเกษตรต้นแบบในการบริหารจัดการสินค้าอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) แปลงใหญ่ลำไย หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการสินค้าการเกษตร ด้วยการคัดคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้าพรีเมี่ยม และแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างเพิ่มมูลค่า เช่น ลำไยฟรีซดราย มะม่วงมหาชนกฟรีซดราย ลำไยสอดใส้สตรอเบอร์รี่ฟรีซดราย กัมมี่มะม่วง และ 2) แปลงใหญ่ลำไย ตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีความโดดเด่นเรื่องการเชื่อมโยงการตลาด โดยเฉพาะสินค้าลำไยเข้าสู่ Modern Trade อาทิ แมคโคร โลตัส และเชื่อมโยงการตลาดกับสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีการแปรรูปผลผลิตลำไย เช่น ลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ลำไยอบแห้งสีทอง เครื่องดื่มน้ำลำไยชนิดผง และลำไยอัดแท่ง เป็นต้น

ปัจจุบันจังหวัดลำพูนมีเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP แล้ว จำนวน 14,339 ราย พื้นที่ 110,956.13 ไร่ นอกจากนี้ จังหวัดลำพูนยังได้เตรียมการบริหารจัดการผลผลิตลำไยจังหวัดลำพูน ปี 2567 โดยคาดการณ์ความต้องการแปรรูปผลผลิตลำไย อยู่ที่ร้อยละ 65 (น้ำลำไยเข้มข้น/ลำไยกระป๋อง ร้อยละ 2.60 และแปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง ร้อยละ 62.40) และความต้องการบริโภคสด อยู่ที่ร้อยละ 35 (ตลาดในประเทศร้อยละ 8 และตลาดส่งออกร้อยละ 27) ซึ่งจะช่วยทำให้บริหารจัดการผลผลิตลำไยของเกษตรกรไม่ให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดได้

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในส่วนของมะม่วงนั้น จังหวัดลำพูนมีเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง จำนวน 13,373 ราย พื้นที่ปลูก 40,537 ไร่ โดยมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น เขียวมรกต มหาชนก จินหวง อาร์ทูอีทู โชคอนันต์ มันศรีวิชัย น้ำดอกไม้สีทอง งาช้างแดง แดงจักรพรรดิ์ เขียวเสวย แก้วขมิ้น เป็นต้น คาดการณ์ผลผลิต ปี 2567 จะมีผลผลิตประมาณ 58,655 ตัน การบริหารจัดการผลผลิตมะม่วงจังหวัดลำพูน ปี 2567 มีความต้องการแปรรูป อยู่ที่ร้อยละ 21.50 ได้แก่ มะม่วงอบแห้ง มะม่วงฟรีซดราย กัมมี่มะม่วง น้ำมะม่วงเข้มข้น แยมมะม่วง ไอศกรีมมะม่วง และทองม้วนมะม่วง และความต้องการบริโภคสดอยู่ที่ร้อยละ 78.50 (ตลาดในประเทศร้อยละ 18.26 และตลาดส่งออกร้อยละ 60.24) ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนมีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบครบวงจร และขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำหลัก BCG Model มาใช้ในการพัฒนาและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทำให้มีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจนเป็นผู้ประกอบการเกษตรต้นแบบในการบริหารจัดการสินค้าอย่างยั่งยืน ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีความโดดเด่นเรื่องการส่งออกมะม่วงสู่ตลาดต่างประเทศ โดยการบริหารจัดการในรูปแบบของกลุ่มในการร่วมกันทำกิจกรรม ทั้งการแปรรูปผลผลิตมะม่วง เป็นมะม่วงอบแห้ง ทองม้วนมะม่วง เพื่อให้สมาชิกมีรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ผลจากการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของลำไยและมะม่วงในจังหวัดลำพูน ส่งผลให้แปลงใหญ่ทั้ง 3 แปลง มีสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ สามารถยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้า และกำลังขยายผลสู่โครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายในการสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) ต่อไป

……

พีรมณฑ์ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว 2567

สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน : ข้อมูล