ตรังโมเดล ผลิตพริกไทยปะเหลียนปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จังหวัดตรัง นับว่าเป็นแหล่งปลูกพริกไทยคุณภาพ โดยเฉพาะพริกไทย “พันธุ์ปะเหลียน” ที่เป็นพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตรัง และเป็นหนึ่งในสินค้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยคุณสมบัติมีรสชาติเผ็ดร้อนกลิ่นฉุนกว่าพริกไทยทั่วไป ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ทำให้พริกไทยตรังเป็นที่นิยมนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารต่าง ๆ และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ อาทิ เนเธอร์แลนด์ คาซัคสถาน และรัสเซีย สร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ได้จัดทำโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพพริกไทยตรัง พันธุ์ปะเหลียน ภายใต้การสนับสนุนจากงบพัฒนาจังหวัด ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วยการอบรมพัฒนาความรู้เกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่นบรรจุภัณฑ์ รวมถึงสนับสนุนวัสดุในการจัดทำแปลงปลูกพริกไทยต้นแบบด้วยระบบน้ำอัจฉริยะอำเภอละ 1 จุด โดยเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้เกษตรกรในการบริหารจัดการน้ำ การวางแผนติดตั้งระบบ การวางท่อระบบน้ำ ซึ่งการวางระบบน้ำในแปลงปลูกพริกไทยมีแนวคิดมาจากการที่พริกไทยเป็นพืชที่ต้องการความชื้น ซึ่งแต่เดิมจะยืนต้นตายในฤดูแล้ง ผลผลิตไม่สมบูรณ์ อีกทั้งการวางระบบน้ำส่งผลให้ประหยัดเวลาในการให้น้ำ ทำให้เกษตรกรมีเวลาในการทำกิจกรรมอื่นมากขึ้น

“กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้สนับสนุนงบประมาณตามโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี2563 – 2565 เพื่อให้แปลงใหญ่ฯ บรรลุเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตการพัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ โดยได้ทำการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการจัดทำแปลงเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนสนับสนุนวัสดุในการพัฒนาคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามโครงการฯ ประธานแปลงใหญ่จะได้เข้ารับการอบรมพัฒนาเป็นผู้จัดการแปลงโดยพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะในการบริหารจัดการกลุ่ม การวางแผนการผลิต การตลาด ตามแนวทางตลาดนำการผลิต ให้สามารถพัฒนาเป็นผู้จัดการแปลงที่บริหารจัดการกลุ่มให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ด้าน นายกิตติ ศิริรัตนบุญชัย สมาชิกแปลงใหญ่พริกไทย อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง กล่าวว่า ได้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกส้ม มาเป็นการปลูกพริกไทยตรัง พันธุ์ปะเหลียน เพราะมองว่าเป็นพืชที่ปลูกไม่ยาก ไม่ต้องดูแลมากนัก เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้เป็นเขตร้อนชื้น จึงมีปัจจัยหลายอย่างเอื้อต่อการปลูกพริกไทย โดยหลักการในการปลูกพริกไทยคุณภาพ จะเริ่มตั้งแต่การเลือกต้นกล้าพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ มีสีเขียวเข้มหรือเขียวอมน้ำตาลและมีใบติดลำต้นโดยคัดจากต้นพันธ์อายุ 6-18 เดือนที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลง โดยปลูกในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ระยะปลูกระหว่างต้น 2-3 เมตร ปลูกสลับฟันปลาเพื่อให้แสงส่องถึงทรงพุ่ม

ส่วนการให้น้ำและปุ๋ยมีการวางระบบการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ 2 วิธีประกอบด้วย 1.ระบบน้ำอัจฉริยะ ในการรักษาความชื้นในดินช่วงฤดูแล้ง โดยจะใช้ระบบเปิด-ปิด ผ่าน application ในสมาร์ทโฟน โดยการตั้งเวลาการให้น้ำทุก ๆ 1 ชั่วโมง ครั้งละ 5 นาที จำนวน 3 ครั้งเริ่มเวลา 00.00 น. ทำให้พริกไทยสามารถได้รับน้ำตามความต้องการและเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพที่ดี และ 2.ระบบการจัดการน้ำเหนือทรงพุ่ม ผ่าน application ในสมาร์ทโฟน เพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในแปลงพริกไทยครั้งละ 5 นาทีต่อครั้ง จำนวน 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 ชั่วโมงซึ่งการจัดการน้ำเหนือทรงพุ่ม จะช่วยเพิ่มเวลาเปิดปากใบของพืชให้มากขึ้น เป็นการช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดการให้ธาตุอาหารที่เหมาะสม ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อควบคุมปริมาณการใช้ปุ๋ยเฉลี่ย 100 กิโลกรัมต่อต้นต่อเดือน ปรับโครงสร้างดินให้อยู่ที่ 6.0-6.5 ซึ่งจะช่วยให้มีต้นทุนค่าปุ๋ยลดลงและใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดการด้านทรงพุ่ม เพื่อให้พริกไทยสามารถสังเคราะห์แสงได้เต็มที่ จึงทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพที่ดีขึ้น

ปัจจุบันได้มีการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตด้วยการแปรรูปพริกไทยเป็นพริกไทยดำ พริกไทยขาว พริกไทยแดง และพริกไทยป่น โดยเมล็ดพริกไทยสีเขียวจะนำมาทำเป็นพริกไทยดำ นำเมล็ดไปล้างในน้ำสะอาดซึ่งผ่านกระบวนการกรอง แล้วคัดเลือกเมล็ดที่ลอยน้ำ ซึ่งเป็นเมล็ดที่ไม่มีคุณภาพออก ตากให้แห้ง แล้วแช่ด้วยเกลือสินเธาว์เพื่อไม่ให้มีการปนเปื้อนจากไมโครพลาสติก และโซเดียมช่วยไม่ให้ขั้วเมล็ดเน่า ล้างให้สะอาด ตากให้แห้งอีกครั้ง โดยมีความชื้นไม่เกิน 8%  เพื่อให้ได้เป็นเมล็ดพริกไทยดำคุณภาพ แล้วนำไปบรรจุในถุงพลาสติกใส 2 ชั้น เพื่อป้องกันความชื้นส่วนเมล็ดพริกไทยสีแดงจะนำมาทำเป็นพริกไทยแดง คือ จะนำเข้ากระบวนการเก็บสี นำเมล็ดไปล้างในน้ำสะอาดซึ่งผ่านกระบวนการกรอง แล้วคัดเลือกเมล็ดที่ลอยน้ำออก แล้วนำไปผึ่งลมให้แห้งจนมีลักษณะเมล็ดเหี่ยว โดยมีความชื้นไม่เกิน 7% เพื่อให้ได้เป็นเมล็ดพริกไทยแดงคุณภาพ แล้วนำไปบรรจุในถุงพลาสติกใส 2 ชั้น เพื่อป้องกันความชื้น

สำหรับพริกไทยขาว จะนำพริกไทยที่สุกจัดและตกพื้นมาคัดแยก นำมาแช่น้ำ 3 ชั่วโมง (หากแช่นานกว่านี้หรือข้ามคืนจะทำให้เมล็ดข้างในเน่า) แล้วขยี้เปลือกออกจนหมด และตากให้แห้งสนิทโดยมีความชื้นไม่เกิน 7%  (การทำพริกไทยขาวไม่มีการใช้สารฟอกขาว) และพริกไทยป่น คือการนำพริกไทยแต่ละชนิดมาป่นให้เป็นผง แล้วบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ที่จะจำหน่าย  เกรดพริกไทย มี3 เกรด คือ เกรดพรีเมี่ยม (A) กรองตะแกรงขนาด 4.2 มิลลิเมตร น้ำหนักไม่น้อยกว่า 550 กรัมต่อลิตรเกรดดั้งเดิม (B) กรองตะแกรงขนาด 2.5 มิลลิเมตรน้ำหนักไม่น้อยกว่า 450 กรัมต่อลิตร และเกรด C น้ำหนักไม่น้อยกว่า 260 กรัมต่อลิตร โดยทุกขั้นตอนการผลิตมีการใช้อุปกรณ์ในการบรรจุด้วยกะละมังออกมาจากแปลง เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเมล็ดออกจากฝัก โดยแยกเป็นสีแดง และสีเขียว แล้วเข้าสู่กระบวนการกรองเพื่อเอาน้ำออกจึงจะนำเมล็ดไปตากแห้ง ครั้งแรกเก็บฝักพริกไทยแล้วแยกเป็นเมล็ดพริกไทยออกจากฝัก โดยในกระบวนการทำพริกไทยแห้งของสวนจะเน้นการตากแดดเป็นหลัก ใช้วิธีอบไล่ความชื้นไม่เกิน 10% ของการผลิต เพื่อช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอน ทางสวนจึงจะวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงต้นปีซึ่งเป็นระยะที่มีแดดออกดี สม่ำเสมอ

“การแปรรูปพริกไทยคุณภาพ ด้วยการเก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม มีกระบวนการแปรรูปที่พิถีพิถัน จะสามารถดึงความหอม รสชาติเผ็ดร้อนที่เป็นเอกลักษณ์ได้เป็นอย่างดี ลูกค้าจะติดใจแล้วกลับมาซื้อใหม่ การแปรรูปพริกไทยคุณภาพ ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นจากราคาทั่วไปในท้องตลาดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 300-500 บาทอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ กับกรมส่งเสริมการเกษตรทำให้ได้รับองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยีนวัตกรรมและการต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า” นายกิตติ กล่าว