เกษตรฯ แนะวิธีลดเผา ส่งเสริมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จัดการแบบคอร์นไซเลจ สู่การเกษตรที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย ใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
ในขณะเดียวกันการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะมีเศษตอซังข้าวโพดกว่า 6.83 ล้านตัน และยังขาดการจัดการที่เหมาะสม
โดยการเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการเก็บเกี่ยวเป็นอีกหนึ่งวิธีที่รวดเร็ว แต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำลายโครงสร้างของดิน สูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน ทำลายจุลินทรีย์และแมลงที่เป็นประโยชน์ในดิน ทำให้ความชื้นในดินลดลง เกิดฝุ่นละอองและก๊าซหลายชนิด ก่อให้เกิดมลพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร
ปี 2566/67 พบพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ประมาณ 5.3 ล้านไร่ มีปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ย 4 ล้านตัน ทั้งนี้ตามมาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 หนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนของกรมส่งเสริมการเกษตรคือ การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ปรับวิธีการจัดการเศษวัสดุตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หนึ่งในแนวทางที่ส่งเสริมคือการผลิตเป็นอาหารหยาบที่ถือเป็นราชาของอาหารสัตว์ ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์คุณภาพ ยังประสบปัญหาคุณภาพอาหารหยาบไม่สม่ำเสมอและมีไม่เพียงพอ
ต่อความต้องการ การพัฒนาและเตรียมพร้อมในด้านอาหารหยาบให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ จึงมีความสำคัญ
เป็นอย่างยิ่ง เมื่อสัตว์กินจะได้รับโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุ ทำให้โตไวและแข็งแรง ช่วยลดต้นทุนการผลิตและได้รับผลตอบแทนคุ้มทุน 

การผลิตข้าวโพดหมัก (Corn Silage) เป็นวิธีการปรับเปลี่ยนมาตัดต้นข้าวโพดต้นสดพร้อมฝักเก็บเกี่ยวที่อายุการปลูก
85 – 90 วัน มีความชื้นพอเหมาะ นำมาหมัก เก็บถนอมไว้ในสภาพสุญญากาศ เก็บได้เป็นเวลานาน โดยคุณค่าทางอาหารไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวิธีการคือนำรถไถติดตั้งเครื่องสับย่อยข้าวโพดพร้อมฝักเก็บเกี่ยวข้าวโพดในแปลง และควรตรวจสอบความชื้น โดยนำเอาชิ้นส่วนของข้าวโพดที่สับแล้ว หากไม่มีน้ำไหลออกมาและชิ้นส่วนของข้าวโพดคลายตัวออก
เมื่อแบมือ แสดงว่าระดับความชื้นน้อยกว่าร้อยละ 65 จะเริ่มทำการเก็บเกี่ยว ลักษณะของข้าวโพดหมักที่ดี คือ มีสีเหลืองอมเขียว ไม่เละ มีกลิ่นหอมของการหมัก มีรสเปรี้ยว มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ระหว่าง 3.5-4.2 ค่าโปรตีน 7-9 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การผลิตข้าวโพดหมักแบบคอร์นไซเลจจะไม่มีเศษวัสดุเหลือตกค้างในแปลง เป็นหนึ่งในการจัดการเศษวัสดุการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีตลาดรองรับที่ชัดเจน

ด้าน นายชาญเมธา รัตนมาโนชญ์ เกษตรกรต้นแบบการปลูกข้าวโพดหมักหรือคอร์นไซเลจ จังหวัดเชียงราย ได้ให้ข้อมูลว่า จากเดิมเป็นเกษตรกรเลี้ยงแพะ ต้องซื้ออาหารสำเร็จรูปราคาแพง ใช้ต้นทุนการเลี้ยงที่สูง ผลตอบแทนไม่คุ้มทุน จึงได้มีแนวคิดในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารแพะ คิดหาวิธีเพื่อลดต้นทุน โดยให้แพะกินต้นข้าวโพดสับหมักแบบคอร์นไซเลจทดสอบวิธีการปลูก จนปัจจุบันข้าวโพดคอร์นไซเลจของที่แปลง มีโปรตีนสูงถึง ร้อยละ 15.30 ซึ่งได้จากการส่งตรวจวิเคราะห์หาค่าองค์ประกอบทางเคมีและค่าโภชนาการวัตถุดิบข้าวโพดหมัก จากห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ลำปาง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สำหรับวิธีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งอ่านประมาณ
90 รอบ ถามจากผู้รู้ ศึกษาและประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเกษตรของตนเอง รวมถึงทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อมีรายได้และเป็นการเกื้อกูลกิจกรรมทางด้านการเกษตรทั้งพืชและปศุสัตว์

สำหรับการปลูกเริ่มต้นด้วยการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ควบคู่กับการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ ได้แก่
มูลวัวจากฟาร์มที่กินคอร์นไซเลจ รวมกับมูลแพะจากฟาร์มของตนเอง ซึ่งจะไม่มีปัญหาเรื่องวัชพืชที่ปนมากับมูลสัตว์ สำหรับการใส่ปุ๋ยเคมีจะได้ผลดีที่สุดต้องใส่ตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยตรวจวิเคราะห์ดินด้วยตนเองปีละครั้ง จากชุดตรวจ
ค่าดินอย่างง่าย (Soil Test Kit) และใช้หลักการ ใส่ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี ทำให้ต้นข้าวโพดใช้ประโยชน์
ได้เต็มที่ ลดการสูญเสีย ต้นเจริญเติบโตดี ผลผลิตดี มีคุณภาพ ฝักใหญ่สวยงาม นอกจากนี้ยังจัดทำแปลงข้าวโพดเป็นแปลงวิจัยศึกษาการเจริญเติบโตในทุกระยะ โดยใช้ระบบน้ำหยด ทำให้ข้าวโพดโตเร็ว ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ปัจจุบันได้ผลผลิตสูงถึง 7,000 กิโลกรัม/ไร่ และใช้ระบบน้ำหยด ซึ่งดีกว่าระบบน้ำพุ่งและแบบร่องที่ทำให้เปลืองน้ำและดินแน่นแข็ง ส่วนระบบน้ำพุ่งทำให้ต้นข้าวโพดเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ และเกิดปัญหาวัชพืชในแปลงด้วย

นอกจากนี้ยังมีการใส่ปุ๋ยผ่านทางระบบน้ำ ทำให้จัดการปริมาณปุ๋ยที่ให้กับต้นข้าวโพดได้ตรงตามความต้องการ ประหยัด เวลา และแรงงาน ไม่ต้องเสียเวลาหว่านปุ๋ย ทำให้ลดต้นทุนได้ ซึ่งการใส่ปุ๋ยด้วยแรงงานคนปกติ 1 คน จะใส่ปุ๋ย
ได้ประมาณวันละ 5-6 ไร่ แต่การใส่ปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยด 1 คน จะให้ปุ๋ยได้ประมาณวันละ 15 ไร่ ลดแรงงาน เกิดความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยคำนึงถึงขนาดลำต้นและใบใหญ่ สมบูรณ์ ให้ปริมาณและน้ำหนักฝักข้าวโพดสูง เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คอร์นไซเลจมีคุณภาพที่ดี และต้องวางแผนการผลิตเพื่อให้มีผลผลิตหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง และรองรับกับเครื่องบรรจุข้าวโพดแบบปั้นก้อนที่สามารถผลิตข้าวโพดหมัก
ได้วันละ 3 ไร่ (ไม่เกิน 30 ตัน หรือวันละ 500 ก้อน) เพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์สำหรับใช้ในฟาร์มแพะของตนเอง
และจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด

          อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้ายว่า “ข้าวโพดคอนไซเลจ เป็นหนึ่งในวิธีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้
จากการทำการเกษตร ซึ่งความสำเร็จของการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ต้องอาศัยการสร้างกระบวนการที่ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบ สร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
ที่มีอยู่เดิมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการเรียนรู้การทำการเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในอนาคตอีกด้วย”