“เราได้เข้าร่วมกับโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ของกรมส่งเสริมการเกษตร เนื่องจากต้องการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เพราะการทำมะพร้าวควั่นจะมีช่องว่างเท่าเดิมและคงเดิม ซึ่งไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่หากเราหันมาทำสินค้ามูลค่าสูง สินค้าอาจจะไม่ต้องเพิ่ม แต่เราเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้”
หนึ่งในคำบอกเล่าของ นายจารุวัฒน์ หงส์ศุภางค์พันธุ์ ประธานแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม หมู่ 6 ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ถึงที่มาของการเข้าร่วมโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ ภายใต้ภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของสินค้าเกษตรในแต่ละท้องถิ่น ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ตลอดจนขยายโอกาสทางการตลาดไปสู่ระดับสากล
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่จะยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ยั่งยืน จนมีชุมชนที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจากโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ ในหลากหลายพื้นที่ทั่วไทย หนึ่งในนั้นคือ ‘กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม หมู่ 6 ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี’ ที่ได้สานพลังกลุ่มเกษตรกรในชุมชน นำมะพร้าวน้ำหอมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาด
นายสุพัฒน์ อ่อนคง เกษตรจังหวัดราชบุรี บอกเล่าถึง บทบาทหน้าที่ในการดูแลเกษตรกรในพื้นที่ว่า เราได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมการเกษตร ในการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรสู่พี่น้องเกษตรกร เพื่อมุ่งหวังให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้น และเกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น เมื่อถามเกษตรจังหวัดราชบุรีว่า ‘ทำไมจังหวัดราชบุรีถึงเหมาะกับการปลูกมะพร้าวน้ำหอม’ ท่านได้ตอบว่า มะพร้าวน้ำหอมของราชบุรี ถือเป็นไม้ผลที่ขึ้นชื่อและมีการปลูกมากที่สุดในประเทศไทย เพราะมีการปลูกในพื้นที่มากกว่า 100,000 ไร่ และเป็นจังหวัดที่มีการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมมากที่สุดแห่งหนึ่งไทยเลยก็ว่าได้ อีกทั้งพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมของราชบุรีมีสภาพพื้นดินอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ทำให้ดินบริเวณดังกล่าวมีตะกอนดินแร่ธาตุและสารอาหารค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น การปลูกมะพร้าวน้ำหอมจึงได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ น้ำรสหวานและมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย จนเป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทยและต่างประเทศ
“สำหรับการเข้าไปดูแลและส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมนั้น เราเริ่มตั้งแต่การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้คุณภาพของมะพร้าวน้ำหอมดียิ่งขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด และสิ่งสำคัญคือ เรายังส่งเสริมให้เกษตรกรได้การรับรองมาตรฐาน อาทิ มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยต่อการบริโภคตามหลักสากล ส่วนเหตุที่ต้องผลักดันเรื่องการรับรองนั้น เนื่องจากตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกต่างประเทศล้วนมีกฎเกณฑ์ว่า มะพร้าวหรือผลผลิตทุกชนิดที่ส่งออกไปยังต่างประเทศต้องมีการรับรองมาตรฐาน GAP หรือ Organic ส่วนอย่างสุดท้ายคือ เรามุ่งมั่นที่จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้มั่นคงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน” เกษตรจังหวัดราชบุรี เผย
แต่หากจะพูดถึงความพิเศษของมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี นายจารุวัฒน์ หงส์ศุภางค์พันธุ์ ประธานแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม หมู่ 6 ต.ดอนกรวย บอกว่า มะพร้าวน้ำหอมของเราถือเป็นสินค้า GI ที่มีความหอมและความหวานเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยมีตลาดส่งออกหลักอยู่ในประเทศจีน อเมริกา แคนาดา รวมถึงแถบภูมิภาคยุโรป
“พื้นที่จังหวัดราชบุรี จะมีน้ำทะเลและน้ำกร่อยหนุนเข้ามา ทำให้เมื่อปลูกมะพร้าวนน้ำหอม จะส่งผลให้ผลผลิตมีรสชาติหวาน หอม ทั้งยังมีสภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับมะพร้าวน้ำหอม โดยจะต้องมีอากาศที่ชุ่มชื้น มีความกดอากาศเหมาะสม แต่ปัญหาหลักที่ทำให้ราคามะพร้าวน้ำหอมพุ่งสูงขึ้นเป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้อากาศร้อน จนเป็นเหตุทำให้มะพร้าวน้ำหอมต้องสลัดลูกทิ้ง และมีมะพร้าวน้ำหอมติดอยู่ที่ต้นน้อย” นายจารุวัฒน์ กล่าว พร้อมบอกอีกว่าปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม หมู่ 6 ต.ดอนกรวยมีสมาชิกอยู่ประมาณ 30 กว่าราย และมีพื้นที่แปลงครอบคลุมกว่า 400 – 500 ไร่ มีผลผลิตเป็นมะพร้าวน้ำหอมสด โดยได้มีการควั่น และส่งออก ตลอดจนนำเข้าโรงเจาะน้ำ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นน้ำมะพร้าวน้ำหอม หรือทำเป็นเนื้อมะพร้าวน้ำหอมอบแห้ง
ต่อมาเราได้เข้าร่วมกับโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ของกรมส่งเสริมการเกษตร เนื่องจากต้องการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เพราะการทำมะพร้าวน้ำหอมควั่นจะมีช่องว่างเท่าเดิมและคงเดิม ซึ่งไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่หากเราหันมาทำสินค้ามูลค่าสูง สินค้าอาจจะไม่ต้องเพิ่ม แต่เราเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้
“สำหรับวิธีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่านั้น ในตอนแรกเราจะทำการผ่าเอาน้ำและเนื้อมะพร้าวน้ำหอมออกมา แล้วนำน้ำบรรจุใส่ขวดส่งขายให้กับลูกค้าผ่านตลาดออนไลน์ ส่วนเนื้อจะนำไปแพ็กและแบ่งขายเป็นถุงละกิโลกรัม แต่เนื่องด้วยเรามีเนื้อมะพร้าวน้ำหอมเหลือเกินสต๊อก จากเดิมที่จะต้องทิ้งส่วนที่เหลือไป เราคิดว่าสามารถนำมาแปรรูปและสร้างผลกำไรเพิ่มได้ เราจึงได้ให้โจทย์กับทางสถาบันอาหารว่า เราอยากแก้ปัญหาช่วยระบายสินค้า จนในที่สุดทางสถาบันฯ จึงคิดค้น ‘มะพร้าวหนึบ’ ขึ้นมา เกิดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อมะพร้าวน้ำหอม พร้อมนำรายได้เข้าสู่ชุมชน ด้านผลตอบรับจากผู้บริโภคที่ได้ลองชิมมะพร้าวหนึบแล้วนั้น ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติมีความพอดี ไม่หวานเกินไป แต่เนื่องจากในขณะนี้เรายังทำบรรจุภัณฑ์ไม่เรียบร้อย ทั้งยังกำลังดำเนินการเรื่องการขอเลข อย. ดังนั้น เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็จะสามารถวางขายได้เลย ส่วนช่องทางการจำหน่ายจะมีทั้งวางขายผ่านทางออนไลน์และขึ้นเชลฟ์ขายตามห้างสรรพสินค้า ต้องรอติดตามต่อไป” ประธานแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม หมู่ 6 ดอนกรวย เผย
‘แปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม หมู่ 6 ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี’ ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของโครงการ ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ ที่มีการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรในระดับท้องถิ่น ช่วยเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน