‘สับปะรดภูแล’ เป็นสับปะรดสายพันธุ์ในกลุ่ม Queenเช่นเดียวกับสับปะรดภูเก็ตในภาคใต้ พบว่า มีการนำสับปะรดภูเก็ตมาทดลองปลูกครั้งแรกในตำบลนางแล และตำบลใกล้เคียงในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี 2520 ด้วยจุดเด่นสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่มีอากาศเย็นสบาย ลักษณะทางกายภาพที่ราบเชิงเขา เนินเขา และภูเขาสูง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดที่เหมาะสมเกือบตลอดทั้งปี ทำให้สับปะรดมีการปรับสภาพ อีกทั้งผู้ปลูกได้คัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้ผลสับปะรดที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขนาดผลที่เล็ก เนื้อสีทอง กลิ่นหอม รสชาติหวาน แกนกรอบรับประทานได้
เนื่องจากรสชาติของสับปะรดภูแลเป็นที่นิยมอย่างมาก ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด จากในพื้นที่ขยายไปสู่อำเภออื่นๆ กระทั่งส่งจำหน่ายทั่วประเทศและส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ ‘จีไอ’ (GI : Geographical Indication) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 ใช้ชื่อว่า ‘สับปะรดภูแล’ พื้นที่การปลูกครอบคลุม 3 ตำบล คือ ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด และตำบลบ้านดู่ ของอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ
‘กลุ่มแปลงใหญ่สับปะรดภูแลตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย’ ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งพระบาท หมู่ 18 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีนายสมชาติ วรรณคำ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งเริ่มต้นเป็นกลุ่มเกษตรกรจากการรวมตัวของชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่จากกรมส่งเสริมการเกษตรตั้งแต่ปี 2559 เพื่อต้องการให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการพัฒนาด้านคุณภาพพร้อมทั้งมีการบริหารจัดการทางด้านการตลาด
ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่สับปะรดภูแล ตำบลบ้านดู่ฯ ได้มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกรวม 52 ราย กิจกรรมที่ดำเนินการต่อเนื่องคือ การรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ นำมาปอกและเฉาะ บรรจุถุงเข้าห้องเย็นเพื่อส่งจำหน่ายทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศคือสาธารณรัฐประชาชนจีน เพียงแต่ช่วงนี้กลุ่มกำลังเผชิญปัญหาจากการถูกจีนปฏิเสธการรับซื้อสับปะรดภูแลปอกเปลือก ระบุว่าขัดต่อเงื่อนไขข้อตกลงการส่งออกสินค้าเกษตรในลักษณะผลสดจากไทย โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังเจรจาเพื่อขอผ่อนปรนหรือปรับรูปแบบของผลผลิตเพื่อให้สามารถส่งออกไปจีนได้เช่นเดิม
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหา โดย ว่าที่ร้อยตรี ดุจเดี่ยว วงศ์ภักดิ์ เกษตรจังหวัดเชียงราย บอกว่า เพื่อลดปัญหาการส่งออกสับปะรดภูแลแบบปอกเปลือกที่ไม่สามารถส่งออกประเทศจีนได้ จังหวัดเชียงรายได้มีการประสานงานเพื่อจัดทำ MOU ระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับผู้รับซื้อผลผลิตสับปะรดภูแลแบบปอกเปลือกอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ รวมทั้งหาตลาดส่งออกไปประเทศอื่นเพิ่มเติม โดยพัฒนาโรงแพ็กบรรจุสับปะรดภูแลให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของประเทศนั้นๆ อีกทั้งยังมีการเจรจาเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่กับกลุ่มผู้ประกอบการของจีนเพื่อส่งออกสับปะรดภูแลในรูปแบบผลสดที่ไม่ปอกเปลือกอีกด้วย
ยกระดับสินค้า – เสริมศักยภาพเกษตรกร
กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่รับนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในการยกระดับสินค้าเกษตรและเสริมศักยภาพของเกษตรกร ด้วยการเร่งขับเคลื่อนโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2567 – 2570
ปีนี้นับเป็นปีเริ่มต้นของการดำเนิน ‘โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง : กลุ่มแปลงใหญ่สับปะรดภูแล ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นเป้าหมายนำร่องเพื่อการขับเคลื่อนโครงการนี้
จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาในพื้นที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงรายร่วมกับเกษตรกร พบว่า เกษตรกรประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนในส่วนของราคาปัจจัยการผลิตและค่าแรงงาน เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เน้นขายผลผลิตให้ผู้ประกอบการที่ตั้งจุดรับซื้อสับปะรดภูแลที่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ เพื่อนำมาคัดแยก บริหารจัดการผลผลิต และส่งขายสู่ตลาดในหลายช่องทาง เช่น ส่งขายทั้งผลไปตลาดทั่วประเทศทั้งแบบขายส่งและขายปลีก, ปอกเปลือก เฉาะ ตัดแต่ง ก่อนบรรจุถุงเข้าห้องเย็นรอส่งขายตลาดทั่วประเทศและส่งออกต่างประเทศ, ส่งขายโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากสับปะรดภูแล ซึ่งแต่ละช่องทางดังกล่าว ราคารับซื้อไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดผลเล็ก – ใหญ่ และระยะความสุกแก่ แต่ราคาจะขึ้นกับสถานการณ์ ช่วงเวลาของแต่ละปี และจุดประสงค์ทางการตลาดของผู้ที่รับซื้อเป็นหลัก โดยเกษตรกรสามารถติดต่อกับผู้รับซื้อเพื่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดของผลผลิตและระดับราคารับซื้อเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะขายให้ผู้รับซื้อรายใด
จากสภาพการขายผลผลิต จึงส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะปลูกสับปะรดภูแลแบบไว้ตอหลายปีจากการปลูก 1 ครั้ง เพื่อให้ต้นสับปะรดแตกหน่อจำนวนมาก เชื่อกันว่าถ้ามีจำนวนต้นมาก ก็จะได้จำนวนผลสับปะรดต่อไร่มากกว่าการเน้นที่ทำผลขนาดใหญ่แต่ได้จำนวนผลน้อย อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตและค่าแรงงานได้มากกว่า จากพฤติกรรมการผลิตดังกล่าว ประกอบกับสภาพพื้นที่ปลูกสับปะรดเป็นที่สูงมีความลาดชัน ซึ่งมักพบปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน มีการปลูกสับปะรดซ้ำพื้นที่เดิมเป็นเวลานาน จึงส่งผลกระทบทำให้สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงเรื่อย ๆ และหากไม่มีการแก้ไขก็ยิ่งจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของต้นสับปะรดต่ำ ต้นแคระแกรนซ้ำร้ายอาจไม่ให้ผลผลิต และไม่คุ้มค่าการลงทุนของเกษตรกร
สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงรายจึงได้มีแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของเกษตรกรกลุ่มนี้ ได้แก่ ทำความเข้าใจร่วมกัน วิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาในระยะยาวอย่างมีส่วนร่วมกับเกษตรกรเจ้าของแปลง มีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็น นำไปสู่การฟื้นฟูสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินให้กลับมามีความเหมาะสมในการผลิตสับปะรด นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับแผนการผลิตโดยกระจายช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อลดการกระจุกตัวของผลผลิตช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง อีกทั้งสนับสนุนเชื่อมโยงช่องทางการตลาดระหว่างเกษตรกรกับผู้รับซื้อผลผลิตทั้งเกรดคุณภาพ และเกรดรอง ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงคุณภาพผลผลิตที่ได้มาตรฐานและเป็นสับปะรดภูแลสินค้า GI ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งและส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าจากเศษวัสดุเหลือใช้จากการผลิตสับปะรด เพื่อเป็นการเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง เป็นการเดินหน้าตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ เพื่อยกระดับสินค้า เสริมศักยภาพเกษตรกรอีกทางหนึ่ง