อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร สั่งการทำความเข้าใจ และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและพืชอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ (อุทกภัย) ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง

ตามที่จังหวัดมหาสารคาม ได้เกิดฝนตกหนักในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปริมาณตกหนักสูงสุด 125 มิลลิเมตร ประกอบกับเหตุการณ์ความเสียหายของอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรประมาณ 18,199 ไร่ ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด ตรวจสอบความเสียหาย การแจ้งสิทธิการขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ประสบภัยฯ ด้านพืชที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว จำนวน 2 อำเภอ คือ อ.บรบือ และอ.วาปีปทุม มีพื้นที่คาดว่าจะเสียหายรวม 46,835 ไร่ แบ่งเป็น นาข้าว 45,662 ไร่ และมันสำปะหลัง 1,173 ไร่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงนี้ จังหวัดมหาสารคามได้ประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ด้านพืชแล้ว จำนวน 6 อำเภอ โดยมีพื้นที่คาดว่าจะเสียหายรวม 151,137 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังบางส่วน มีความกังวลว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิต จึงเร่งเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังออกจำหน่าย ทำให้ราคาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด ประเมินสถานการณ์และบริหารความคาดหวัง  พบว่า มันสำปะหลัง เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์มักจะปลูกช่วงต้นฤดูฝน (เดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม) และประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ปลูกในช่วงปลายฤดูฝนหรือในฤดูแล้ง (เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์) ส่วนที่เหลือจะปลูกในช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคมโดยเกษตรกรในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคม ซึ่งปริมาณแป้งในหัวมันสำปะหลังของทุกพันธุ์จะมีปริมาณแป้งสูงสุด ส่วนการเก็บเกี่ยวช่วงเดือนเมษายน – เดือนตุลาคม ปริมาณแป้งในหัวมันจะลดลงเรื่อย ๆ หากเกษตรเก็บเกี่ยวในช่วงนี้ จะทำให้ได้ราคาน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรฐานการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการรับซื้อ และการแสดงราคารับซื้อ หัวมันสำปะหลังสดตามเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งของกระทรวงพาณิชย์

ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบและบริหารความคาดหวังของเกษตรกร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรจึงสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำรวจ ประเมิน พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าวว่าจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตอย่างไร หากพื้นที่ใดได้รับผลกระทบ ให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจและดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ส่วนพื้นที่ใดไม่ได้รับความเสียหายถึงระดับเศรษฐกิจ ให้ดูแลบำรุงรักษาผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หัวมันสำปะหลังเกิดการสะสมแป้งที่สมบูรณ์ และขายได้ราคาตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด