กรมส่งเสริมการเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนต่อยอดเป็นสินค้ามูลค่าสูง ดันสู่ตลาด e-Commerce

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนสนามจันทร์ ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน แปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด ได้มาตรฐานของประเทศไทยและมาตรฐานสากล สร้างรายได้งาม 5 แสนบาทต่อปี ดำเนินการโดย นายพิชญา จึงสมานญาติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสนามจันทร์ ภายใต้แบรนด์ ไพรทิพ ประสบความสำเร็จในการรวมกลุ่ม เริ่มต้นจากเมื่อปี 2546 ทำการค้าขายในท้องถิ่น สู่การส่งออกต่างประเทศ พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปกว่า 10 ชนิด เช่น บล็อคโคลี่กรอบ เห็ดกรอบ กระเจี๊ยบกรอบ กล้วยหอมกรอบ ฯลฯ ช่วยให้วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และคนรุ่นหลัง มีอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง หัวใจหลักที่ทำให้วิสาหกิจชุมชนประสบความสำเร็จ คือ สิ่งที่ทำให้สินค้าสามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดการแข่งขันได้ ส่วนหนึ่งต้องรู้จักตัวเอง ตั้งแต่การผลิต การตลาดและเงินทุน เลือกธุรกิจที่เหมาะกับเรา ไม่แข่งกับเจ้าใหญ่ ต้องหาสินค้าแปลกใหม่ที่ตลาดยังไม่มี  รู้จักนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยและการร่วมแรงร่วมใจกันแบ่งหน้าที่ชัดเจนตามความถนัด ทั้งกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการตลาด  และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและสร้างแบรนด์ได้ตามมาตรฐานสากล ได้รับความสนใจจากลูกค้า และจำหน่ายผ่านทางShopee  และ Facebook : Pritip ไพรทิพ : ผักผลไม้กรอบ เพื่อสุขภาพ ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเปิดเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้เกษตรกร และผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ที่ วิสาหกิจชุมชนสนามจันทร์ เลขที่ 2/9 หมู่ 2 ตำบลหนองปากโลง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐมได้ดำเนินการส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการรับรองมาตรฐานสินค้า “นครปฐมการันตี” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและให้การรับรองสินค้าเกษตร รวมไปถึงการสนับสนุนการออกบูธจำหน่ายสินค้าและประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักของตลาด

          รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่ากรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักดีถึงความเปลี่ยนแปลงของตลาดและผู้บริโภค จึงสร้างทีมพัฒนาธุรกิจวิสาหกิจชุมชน มีการอบรม Upskill และ Reskill บุคลากรของกรมส่งเสริมการเกษตรให้พร้อมต่อการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น ให้ความรู้พื้นฐานด้านศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่วิสาหกิจชุมชนควรต้องรู้ (Feasibility Study)  ความรู้เบื้องต้นทางการเงิน (Financial Literacy) และพัฒนา Growth Mindset ประเมินศักยภาพ วางแผนธุรกิจ รวมถึงการทำการตลาดในยุคดิจิทัล มุ่งเน้นให้วิสาหกิจชุมชนสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและปรับตัวให้เข้ากับตลาดออนไลน์ และทำ E-commerce ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนต่อยอดเป็นสินค้ามูลค่าสูง ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเพิ่ม GDP ภาคการเกษตร

          ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 75,430 แห่ง มีสมาชิก จำนวน 1.3 ล้านราย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567 ระบบสารสนเทศวิสาหกิจชุมชน) สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้กว่า 8 พันล้านบาท/ปี (จากการเก็บข้อมูลรายได้วิสาหกิจชุมชน จำนวน 20,468 แห่ง, ข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2567) ในอนาคตผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าถึงและซื้อขายสินค้าผ่าน e-Commerce และให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ และผลิตด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย หรือการผลิตที่ลดของเสียในกระบวนการผลิต สร้างการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอีกด้วย

*************************

กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน : ข้อมูล                 

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : จิราพัชร์, ข่าว