นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็น 5 ด้าน เพื่อให้เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรมีความเข้มแข็ง ลดผลกระทบจากสถานการณ์ที่ท้าทาย พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีขีดความสามารถในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตร โดยยึดหลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ นำไปสู่เป้าหมายการสร้างรายได้เพิ่ม 3 เท่า ในระยะเวลา 4 ปี ประกอบด้วย 1) Growth Mind Set & Anti Fragile คือ มีความเชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ความพยายามและการฝึกฝน และเมื่อล้มเหลวจะพยายามมากขึ้น และความสามารถในการต้านทานความเปราะบาง 2) Learning Skills คือ ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสถานการณ์ และคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน 3) Financial Literacy คือ ความสามารถที่จะเข้าใจและกระจายความเสี่ยงทางการเงิน การปรับแผนการผลิตการตลาดในสภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยการจัดสรรเงินก่อนใช้จ่าย การบริหารการเงิน ทัศนคติการเป็นหนี้ การชำระหนี้แบบต่าง ๆ และการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสม 4) Digital Literacy คือ ความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5) ESG Literacy for Resilience: Environment Social Governance คือความรู้ ความตระหนัก ความเข้าใจถึงการกระทำต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิบัติตนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Skills)
“ในกระบวนการพัฒนาเกษตรกร/องค์กรเกษตรให้มีทักษะสำคัญทั้ง 5 ด้านนั้น เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรถือเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่แก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรมของกรมส่งเสริมการเกษตร ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร จึงจัดทำโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการสู่ตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ หลักสูตรพัฒนาความรู้และศักยภาพเกษตรกรในการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ขึ้น เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้และทักษะในการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อพัฒนากลยุทธ์ในการบริหารจัดการสินค้าที่จำหน่ายในตลาดออนไลน์ มุ่งเน้นให้เกษตรกรผลิตได้ ขายเป็น ตลอดจนเจ้าหน้าที่สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำเกษตรกร ให้สามารถจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำร่องกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานตลาดเกษตรกรออนไลน์ ระดับเขต จังหวัด และเกษตรกรที่เป็นสมาชิกบนเว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์ของกรมส่งเสริมการเกษตร กิจกรรมแบ่งออกเป็นการบรรยายและแบ่งกลุ่มฝึกภาคปฏิบัติ เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดออนไลน์โดยมีวิทยากรผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ รวมถึงประสบการณ์ในการบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์จากภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ เว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 สำหรับเป็นที่รวบรวมสินค้าเกษตรเพื่อเป็นสื่อกลางในการนำสินค้าเกษตร คุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยม ฝีมือเกษตรกรตัวจริงจากทั่วประเทศ จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อส่งเสริมการเพิ่มช่องทางตลาดให้แก่เกษตรกร สร้างโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ตลาดอื่น ๆ ปัจจุบันมีเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสะสม จำนวน 1,919 ราย สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ จำนวน 2,567 รายการ มีมูลค่าการจำหน่ายสะสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน รวมกว่า 1,300 ล้านบาท (ตัดยอดสะสม ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567)
……
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว
กลุ่มส่งเสริมไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร : ข้อมูล