กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์อย่างแม่นยำ ว่าระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน 2567 อาจเกิดฝนสะสมและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคใต้
นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ประธานศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถาณการณ์ภัยพิบัติด้านพืช (ศปภ.ที่ 5) ได้กำกับ ติดตาม ดูแล 14 จังหวัดภาคใต้ ให้เร่งสำรวจความเสียหาย และให้ประชาสัมพันธ์ การพยากรณ์อากาศ การคาดการณ์การเกิดภัยพิบัติ ให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบอย่างทั่วถึงและทันเหตุการณ์
ทั้งนี้ ได้มีการลงพื้นที่ดูความพร้อมการเตรียมรับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดความเสียหายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส) ในระหว่างวันที่ 11 – 15 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา และให้ข้อมูลว่าในวันที่ 26 – 27 พ.ย.67 พบว่ามีปริมาณน้ำฝนล้นตลิ่งหลายพื้นที่และมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 300 มิลลิเมตร ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีการรายงานข้อมูลพื้นที่และครัวเรือนเกษตรกรที่ประสบภัย จำนวน 6 จังหวัด 37 อำเภอ 266 ตำบล 1,473 หมู่บ้าน พื้นที่ประสบภัย 238,153 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 149,587 ไร่ เกษตรกร 30,911 ครัวเรือน
ในวันนี้ นางสุนิภา คีรีนารถ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เลขา ศปภ.ที่ 5 ได้ รวบรวมข้อมูลคาดการณ์ความเสียหายเบื้องต้นจากอุทกภัย ผ่านระบบข้อมูลเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมทั้งติดอาวุธให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานภัยพิบัติด้านพืชระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 170 คน โดยมี ดร.กมล พรหมสาขา ณ สกลนคร ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก และนายณัทพล ไชยทอง ผู้อำนวยการส่วนติดตามสภาวะอากาศ เป็นวิทยากร ให้มีความรู้การพยากรณ์อากาศ การคาดการณ์การเกิดภัยพิบัติล่วงหน้ารายวัน รายสัปดาห์ การใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ อย่างเข้าใจ และนำไปใช้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งทบทวนความรู้การบันทึกข้อมูลในระบบข้อมูลเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช โดยวิทยากรจากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเตรียมการช่วยเหลือหลังเกิดภัยต่อไป
นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ ประธาน (ศปภ.ที่ 5) ฝากเน้นย้ำและกำชับให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและอำเภอเร่งสำรวจและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทันเหตุการณ์ และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น อย่างใกล้ชิดต่อไป