
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยนายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา พร้อมคณะ ร่วมต้อนรับศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอิทธิ ศิริลัทยากร และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ อำเภอระโนด และอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ในโอกาสนี้ได้มอบนโยบายและรับฟังปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมมอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และเครื่องอุปโภคบริโภค ณ ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ที่ว่าการอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา


นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการเกษตรใน 3 ประเด็น ดังนี้
1. นิทรรศการการส่งเสริม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากตาลโตนด (วิสาหกิจชุมชน ตาลโตนด อำเภอสทิงพระ)
เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากตาลโตนดให้เป็น Soft Power ตามข้อสั่งการของ ท่านรัฐมนตรี ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อำเภอสทิงพระ ที่ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริม การเกษตรในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม จากตาลโตนด จำนวน 4 กลุ่ม ดังนี้
1) วิสาหกิจชุมชนแคใต้ ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
2) วิสาหกิจชุมชนบ้านพังเถียะ ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
3) วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านบ่อใหม่ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
4) วิสาหกิจชุมชนตาลโตนด โหนด นาเล ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา


2. นิทรรศการการส่งเสริม และพัฒนาการผลิตมะพร้าว น้ำหอม สู่การเป็น “สงขลา มหานครแห่งมะพร้าวน้ำหอม ภาคใต้” และการบริหารจัดการ โรคและแมลงศัตรูมะพร้าว จังหวัดสงขลา (แปลงใหญ่ มะพร้าวน้ำหอมบ้านชุมพล อ.สทิงพระ) เป็นการนำเสนอในเรื่องกระบวนการผลิต มะพร้าวน้ำหอมตั้งแต่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ทั้งในเรื่องของข้อมูลพื้นฐานการผลิต มะพร้าวน้ำหอม ราคาผลผลิต กำลังการผลิต และแนวทางในการพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ แปรรูปจากมะพร้าวน้ำหอม โดยตัวแทน เกษตรกรจากกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม บ้านชุมพล อำเภอสทิงพระ และการนำเสนอในเรื่องการบริหารจัดการศัตรูมะพร้าวที่สำคัญและสถานการณ์การระบาด ของหนอนหัวดำในพื้นที่ภาคใต้รวมไปถึงแนวทาง ในการป้องกั นกำจัด พร้อมทั้งสนับสนุน สารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าพร้อมใช้ จำนวน 10 กิโลกรัม สารสะกัดสะเดา จำนวน 20 ขวด แตนเบียนบราคอน จำนวน 100 กระปุก


3. นิทรรศการนำเสนอใน เรื่องการผลิตและขยายพืชพันธุ์ดี และสนับสนุนต้นพันธุ์พืช เป็นการนำเสนอในเรื่องการผลิตและขยายพืชพันธุ์ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความมั่นคง ทางด้านอาหารพร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์คะน้า จำนวน 600 ซอง เมล็ดพันธุ์แตงกวา จำนวน 600 ซอง ต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้า จำนวน 200 ต้น ต้นพันธุ์พริก จำนวน 1,200 ต้น ต้นพันธุ์มะเขือ จำนวน 1,200 ต้น


ทั้งนี้ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตร “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งประกอบด้วย 9 นโยบายสำคัญที่มุ่งพัฒนาภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร พร้อมส่งเสริมการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน การดำเนินงานจะสำเร็จได้ด้วยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยเกษตรกรต้องพัฒนาความรู้และทักษะในการทำการเกษตรที่ตรงตามความต้องการของตลาด พร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน
