นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่าสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้บุคลากรแต่ละระดับมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน และการพัฒนาองค์กรเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างต่อเนื่องประกอบกับปัจจุบัน เกิดภาวะโลกร้อน Climate Change มีความสัมพันธ์ต่อการระบาทของโรค แมลง ศัตรูพืช ที่จะมีทั้งอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ และเกิดผลกระทบต่อปริมาณ คุณภาพของผลผลิต ซึ่งการดำเนินงานด้านอารักขาพืชเป็นภารกิจสำคัญภารกิจหนึ่งของกรมส่งเสริมการเกษตร และถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการยกระดับภาคการเกษตรให้สูงขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้เป็นหมอพืชมืออาชีพ เพื่อที่จะสามารถให้คำแนะนำ และแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จึงดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรสู่การเป็นหมอพืชมืออาชีพ รุ่นที่ 1 ประจำปี 2567 ในช่วงเดือน มกราคม – พฤศจิกายน 2567 โดยพัฒนาบุคลากรเป็น 4 ระดับ 4 หลักสูตร ตั้งแต่หลักสูตร การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นหมอพืช (Preparing to become a plant doctor), หลักสูตร หมอพืชระดับต้น (Primary Plant Doctor), หลักสูตร หมอพืชระดับกลาง (Plant Doctor) และหลักสูตร หมอพืชระดับสูง (Advanced Plant Doctor) ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ได้รับความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร และการสนับสนุนวิทยากร จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา โครงการนี้ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามชนิดพืชที่ทำการศึกษาตลอดหลักสูตร โดยเนื้อหาการเรียนรู้ประกอบด้วย การสร้างกระบวนทัศน์สู่การเป็นหมอพืชที่ดี ให้ความรู้เรื่องปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช อาการผิดปกติของพืช การจำแนกอาการผิดปกติชองพืช หลักการวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืช หลักการบริหารจัดการศัตรูพืช การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน การใช้ชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติ
การใช้สารเคมีควบคุมศัตรูพืช และการให้คำแนะนำช่วยเหลือเกษตรกร มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรผ่านโครงการฯ เป็นหมอพืชมืออาชีพในพื้นที่ จำนวน 39 คน พบว่าหมอพืชมืออาชีพที่ผ่านโครงการ ฯ นี้ มีการพัฒนากระบวนการคิด การหาคำตอบ รวมถึงมีมุมมองในด้านการป้องกันมากกว่าการแก้ไข ดังคำกล่าวที่ว่า
“อย่ารอให้ต้นไม้ป่วยถึงรักษา แต่เราควรส่งเสริมดูแลให้ต้นไม้แข็งแรงก่อน” ผลจากการพัฒนาบุคลากร ทำให้นักส่งเสริมการเกษตรมีความมั่นใจ ในการทำงานมากขึ้น สามารถที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกรได้ รวมถึงมีรายงานสรุป พืชตัวอย่าง ที่ศึกษาตลอดโครงการ สามารถใช้เป็นองค์ความรู้ในการผลิตพืชนั้นๆ ได้ จำนวน 39เล่ม
Home » เกษตรเขต 5 สงขลา มุ่งพัฒนาบุคลากร นักส่งเสริมการเกษตร สู่การเป็นหมอพืชมืออาชีพ พร้อมรับบริการเกษตรกรในพื้นที่