กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในทุกภาคของประเทศไทย เฝ้าระวังการระบาดของจักจั่นในไร่อ้อยโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกอ้อยต่อเนื่อง
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานว่า พบการเข้าทำลายของจักจั่นอ้อยในหลายพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อย และเริ่มพบตัวเต็มวัยจากตัวอ่อนที่อยู่ในดินเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ ประกอบกับรายงานสถานการณ์การระบาดของจักจั่นอ้อยในช่วงปี 2563 พบว่ามีการระบาดของจักจั่นในพื้นที่ปลูกอ้อยภาคกลางได้แก่ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง พื้นที่มากกว่า 6,000 ไร่ โดยพื้นที่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากอ้อย ทำให้ต้นอ้อยชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น เหี่ยว และแห้งตาย ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลงเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของศัตรูพืชดังกล่าวขยายเป็นวงกว้าง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกอ้อยอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้แจ้งเกษตรกรแปลงปลูกข้างเคียงให้เฝ้าระวัง และรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชที่อยู่ใกล้เคียงทราบ เพื่อรับคำแนะนำได้ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมความพร้อมในการดำเนินการควบคุม ป้องกันกำจัดการระบาดแล้ว
สำหรับ วงจรชีวิตจักจั่น แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข่ โดยตัวเมียจะเจาะเส้นกลางใบอ้อยเป็นรูเล็ก ๆ เพื่อวางไข่ มักพบที่ใบแก่สีเขียว ประมาณใบที่ 3 – 5 นับจากใบล่าง จากนั้นเส้นกลางใบจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เมื่อไข่ฟักกลายเป็นตัวอ่อนทิ้งตัวลงสู่พื้นดิน โดยไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 1 – 2 เดือน ระยะตัวอ่อนของจักจั่นในอ้อย มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวเต็มวัย ต่างกันที่ตัวอ่อนในระยะแรกไม่มีปีก เมื่อลอกคราบ ปีกจะค่อย ๆ ยาวออกมา ซึ่งในระยะตัวอ่อน จะเป็นระยะที่สร้างความเสียหายให้กับอ้อย โดยตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในดินที่ความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตรถึง 2.5 เมตร คอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากอ้อย ตัวอ่อนจะมีขาคู่หน้า ขนาดใหญ่สำหรับไว้ขุดดิน ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในดินใช้เวลาประมาณ 6 – 8 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและทำความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยได้มาก ส่วนระยะตัวเต็มวัย เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่จะขุดรูโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดินและจะไต่ขึ้นมาบนลำต้นอ้อยเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม โดยระยะที่เป็นตัวเต็มวัยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ดังนั้น วงจรชีวิตโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี หรืออาจมากกว่าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำให้เกษตรกรดำเนินป้องกันกำจัดจักจั่นในอ้อย ดังนี้
- หมั่นสำรวจแปลงอ้อย โดยสังเกตคราบของจักจั่นบนต้นอ้อยหรือบนพื้นดิน และตัวเต็มวัยที่เกาะบนต้นอ้อย
- ในพื้นที่ที่มีการระบาดให้ใช้วิธีเขตกรรม เช่น การขุดหรือไถพรวนเพื่อจับตัวอ่อนในดิน หรือการเก็บตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน หรือใช้วิธีตัดใบอ้อยที่พบกลุ่มไข่ของจักจั่นไปทำลายนอกแปลง หรือปรับเปลี่ยนปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของจักจั่น เช่น ปลูกข้าวสลับกับอ้อย
- ใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงหางหนีบ โดยปล่อยแมลงหางหนีบ จำนวน 500 ตัวต่อไร่ ก่อนการระบาดของจักจั่น 1 เดือน เพื่อกำจัดตัวอ่อนระยะฝักจากไข่
- จับตัวเต็มวัยเพื่อนำไปทำลายหรือประกอบอาหาร เพื่อกำจัดจักจั่นตัวเต็มวัยที่พร้อมจะผสมพันธุ์และวางไข่ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณแมลงที่จะระบาดในฤดูกาลถัดไปได้
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและโรคพืชได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน
ข้อมูล กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย