นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาด้านการเกษตรทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการปลูกพืช ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน กระทบกับวงจรการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งส่งผลต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มศักยภาพการผลิตด้านพืชของเกษตรกร และการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน จึงหาแนวทางที่จะทำให้ทราบสถานการณ์การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ล่วงหน้า และแจ้งเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชรับทราบและสามารถดำเนินการป้องกันหรือหาวิธีการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะเป็นการช่วยลดอัตราการสูญเสียของผลผลิตได้ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม AI และ IoT มาใช้เพื่อพัฒนางานด้านการเกษตร เพื่อตอบสนองนโยบายเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) หรือเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย จึงได้จัดการประชุมทางไกล ผ่านระบบ Zoom เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาการติดตามการระบาดศัตรูพืชเพื่อการพยากรณ์และเตือนการระบาด โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อเกษตรอัจฉริยะด้านอารักขาพืช ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังขึ้น เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 โดยมีเป้าหมายในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาระบบรายงานการระบาดศัตรูพืชผ่านแอพพลิเคชั่น “DOAE Pest Forecast” ซึ่งจะเป็นระบบที่ช่วยในการสำรวจข้อมูลการระบาดศัตรูพืชให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว สามารถประมวลผลและพยากรณ์การระบาดของศัตรูพืชล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งสามารถวางแผนควบคุมการระบาดได้รวดเร็วและติดตามผลการดำเนินการได้อย่างใกล้ชิด
ด้านนายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักพืชและจัดการดินปุ๋ย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยได้รับความอนุเคราะห์จาก ผศ.ดร.อนรรฆพล แสนทน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินการพัฒนาแอพพลิเคชั่น DOAE Pest Forecast เพื่อติดตามการระบาดของศัตรูพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย มะพร้าว และทุเรียน โดยกรมฯ เก็บข้อมูลการระบาดศัตรูพืชประจำสัปดาห์ ผ่านเทคโนโลยีการถ่ายภาพและรายงานแบบ real – time ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบแก้ไขผลการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับข้อมูลสภาพแวดล้อมที่วัดได้ในแปลง ซึ่งในปีนี้ได้ต่อยอด DOAE Pest Forecast ไปทดสอบในศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จำนวน 9 แห่ง พร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดสภาพอากาศรายแปลง สามารถวัดค่าอัตโนมัติได้ทุก ๆ 30 นาที ในแปลงต้นแบบการพยากรณ์ศัตรูพืช จำนวน 30 แปลง พื้นที่ 28 จังหวัด โดยมีแผนจะนำไปขยายผลใช้กับแปลงติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืชในพื้นที่เสี่ยงในทุกจังหวัดต่อไป
ทั้งนี้ ระบบการพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืชดังกล่าว เมื่อดำเนินการเสร็จสมบูรณ์จะมีความแม่นยำ สามารถเตรียมการป้องกันก่อนเกิดความเสียหายต่อผลผลิตพืชที่สำคัญได้ และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรด้านอารักขาพืชที่ช่วยในการลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ในการลงสำรวจตรวจนับการระบาดศัตรูพืชประจำทุกสัปดาห์ โดยให้เกษตรกรเจ้าของแปลงดำเนินการได้เอง และแสดงผลให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรทราบเพื่อเตรียมการป้องกันได้อย่างแม่นยำ