นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมและพัฒนาให้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) จำนวน 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด เป็นศูนย์ให้บริการด้านดินและปุ๋ยแบบครบวงจร เพื่อให้บริการสมาชิก ศดปช. กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่ ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจระดับชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของ ศดปช. ที่เข้าร่วมโครงการมีความสะดวกและสามารถให้บริการให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรที่เป็นลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน ชื่อว่า “รู้ดิน รู้ปุ๋ย” ขณะนี้อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ใกล้จะพร้อมเปิดให้ใช้งานแล้ว โดยแอปพลิเคชันดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวกในการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การตัดสินใจการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนให้แก่ ศดปช.
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้จัดอบรมการใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่นให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ย และ Data Base แอปพลิเคชั่น “รู้ดิน รู้ปุ๋ย” แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฯ แล้ว จำนวน 2 รุ่น เมื่อวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเกียรติจากนางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการจัดทำแพลตฟอร์มโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) บรรยายพิเศษ เรื่อง แอปพลิเคชั่น “รู้ดิน รู้ปุ๋ย” และแนวทางการใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ ผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Google Meeting ด้วย
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า แอปพลิเคชัน “รู้ดิน รู้ปุ๋ย” เป็นเครื่องมือสำหรับเจ้าหน้าที่ ศดปช. รวมถึงเกษตรกร ผู้ใช้บริการทั่วไป อีกทั้งหน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล และรายงานที่ได้รับจากแอปพลิเคชั่นด้วย ซึ่งนอกจากจะสามารถใช้งานผ่านทางเว็บแอปพลิเคชั่นแล้ว ยังสามารถใช้งานได้บน Smart Phone ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android นี้มีฟังก์ชั่นการทำงานประกอบด้วย
- ระบบบันทึกข้อมูลศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) กิจกรรมเพาะปลูก ต้นทุนการผลิต ผลผลิต ของสมาชิก และเกษตรกรผู้ใช้บริการ โดยเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) เพียงกรอกข้อมูลเลขที่บัตรประชาชน ก็สามารถดึงข้อมูลของเกษตรกรมาจาก ทบก.
- ระบบให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (pH, N P K ชุดดิน และเนื้อดิน) เพื่อใช้ในการให้คำแนะนำการจัดการดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
- ระบบวิเคราะห์และทำนายต้นทุนการใช้ปุ๋ยและผลผลิต รายแปลง ราย ศดปช. รายชนิดพืช และส่งออกข้อมูลได้
- ระบบสต็อกปุ๋ย แสดงปริมาณและการจัดการปุ๋ยในสต็อกของ ศดปช.
- ระบบสั่งจองการซื้อปุ๋ย แสดงปริมาณปุ๋ยที่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการต้องการให้ ศดปช. รับทราบ และดำเนินการจัดหามาให้บริการตามจำนวนและเวลาที่ต้องการ สามารถระบุสถานที่รับสินค้า ยืนยันการรับ-ส่งสินค้า และส่งออกใบสั่งจอง รวมทั้งใบเสร็จได้
- ระบบรายงานผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ เช่น ผลการให้บริการของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน รายงานจำนวนสมาชิกและเกษตรกรที่ใช้บริการ ศดปช. ปริมาณปุ๋ยที่จำหน่าย พื้นที่การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ต้นทุนและผลผลิตเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและตามวิธีของเกษตรกร เป็นต้น และส่งออกรายงานได้
- ข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมการเกษตร รวมทั้งคำถามที่พบบ่อย และข้อมูลร้านค้าปุ๋ย Q shop ที่กรมวิชาการเกษตรให้การรับรอง
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) จำนวน 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัดเข้าร่วมโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเทคนิคและการบริหารธุรกิจ การจัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่าย ศดปช. ศพก. และ แปลงใหญ่ และดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ ซึ่งแต่ละ ศดปช. จะได้รับวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ ประกอบด้วย ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน จำนวน 10 ชุด แม่ปุ๋ย NPK ทั้ง 3 สูตร (สูตร 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60) จำนวน 120 กระสอบ และเครื่องผสมปุ๋ย 1 เครื่อง สำหรับผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 พบว่า ส่วนที่เปิดให้บริการในเชิงธุรกิจแล้วคือ การจดทะเบียนขายปุ๋ย การให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน มีผู้ใช้บริการแล้ว 92,308 ราย การให้บริการจำหน่ายปุ๋ย จำหน่ายไปแล้ว 50,895 กระสอบ และการให้บริการเครื่องผสมปุ๋ย ดำเนินการแล้ว 1,817.340 ตัน