กรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งเป้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร เร่งพัฒนาขยายพันธุ์สินค้าเกษตร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติในหลากหลายรูปแบบ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการเกิดภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่การระบาดของโรคอุบัติใหม่ อย่างโรคใบด่างมันสำปะหลัง รวมไปถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารขึ้นได้ ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการผลิตและแสวงหาแหล่งอาหารใหม่ (Novel Food) ตลอดจนการนำพืชสมุนไพรมาใช้ในการป้องกันและบรรเทาอาการที่เกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้น กรมฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจในการส่งเสริมและให้บริการทางการเกษตรและปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกร จึงตระหนักถึงความจำเป็นในการผลิตขยายพืชและแมลงเศรษฐกิจสายพันธุ์ดี จึงจัดทำโครงการพัฒนาแปลงเรียนรู้และขยายพันธุ์สินค้าเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตรขึ้น เพื่อเตรียมการรองรับความต้องการพันธุ์พืชและแมลงเศรษฐกิจของเกษตรกร ซึ่งประกอบไปด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรรมพัฒนาแหล่งรวบรวมและขยายพันธุ์พืชสมุนไพร โดยได้จัดทำหรือปรับปรุงแปลงเรียนรู้ รวบรวม ผลิต และขยายพันธุ์พืชสมุนไพรในพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการทั่วประเทศของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่ และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรที่มีความสนใจในการปลูกสมุนไพรเป็นพืชทางเลือก รวมทั้งสนับสนุนการปลูกสมุนไพรเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาสมุนไพรเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตโรคระบาดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ขณะนี้ โดยเน้นการเพาะขยายพันธุ์สมุนไพรที่มีผลงานวิจัยในการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย ขิง ขมิ้นชัน มะขามป้อม เป็นต้น หรือพืชสมุนไพรพันธุ์ดีที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น กระชายดำ ขมิ้นขาว ข่าแดง หญ้าหวาน ไพล ว่านชักมดลูก กระเจี๊ยบแดง จิงจูฉ่าย ว่านหางจระเข้ พริกไทย เตยหอม เชียงดา รางจืด ตะไคร้ ชะพลู บุก ยอ มะขามป้อม เสลดพังพอน หางไหล กระวาน เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมพัฒนาแปลงเรียนรู้และผลิตขยายพันธุ์แมลงเศรษฐกิจ ซึ่งกรมฯ ได้จัดทำและพัฒนาแปลงเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและขยายพันธุ์แมลงเศรษฐกิจ เช่น ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง และจิ้งหรีดโดยให้ศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้พิจารณาเลือกชนิดแมลงตามความต้องการในพื้นที่ และตามศักยภาพความพร้อมของศูนย์

และกิจกรรมการทำแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด โดยการจัดทำแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดทนต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 พันธุ์ระยอง 72 พันธุ์ระยอง 90 พันธุ์ห้วยบง 60 และพันธุ์ห้วยบง 80 ซึ่งคาดว่าทั้ง 3 กิจกรรมจะทำให้ศูนย์ปฏิบัติการทั้ง 47 แห่ง ของกรมส่งเสริมการเกษตรมีแปลงเรียนรู้ แหล่งผลิตสินค้าเกษตรพันธุ์ดี และมีพันธุ์พืชและแมลงเศรษฐกิจสนับสนุนกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ในปีงบประมาณ 2565 ต่อไปอีกด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการช่วยเหลือดูแลและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ยึดหลักตลาดนำการผลิตควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร และปรับวิธีการทำงานสู่ความปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งการดำเนินงานนั้นจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทที่ให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การยกระดับการผลิตให้เข้าสู่คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย การใช้ประโยชน์จากความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของสินค้าเกษตร รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละพื้นที่ร่วมด้วย