กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ และภาคใต้ แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง เชิญชวนสั่งซื้อมังคุดแบบดิลิเวอร์รี่ 4 โล 100 บาท ช่วยเหลือเกษตรกรชาวใต้

          นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ได้อนุมัติแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปี 2564 จำนวน 683,435 ตัน ของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง แพร่ และจังหวัดตาก ซึ่งผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน และแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2564 รวม 824,728 ตัน ของ 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พังงา กระบี่ พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส โดยแผนบริหารจัดการในฤดู ให้มีการกระจายภายในประเทศ ด้วยวิธีการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ (ล้งภายในประเทศ) วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร Modern Trade ไปรษณีย์/ตลาดออนไลน์ ตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจำหน่ายตรงผู้บริโภค การบริโภคภายในครัวเรือน การจัดงานประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ เช่น รถเร่ ตลาดริมทาง ฯลฯ รวมถึงให้มีการแปรรูปและส่งออก

         ทั้งนี้ แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) และแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2564 นั้น ให้ดำเนินการสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 – 2566 ตามมติคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 1/2564 กล่าวคือ จังหวัดวางแผนการบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง ผ่านกลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2558 – 2564 และในเชิงปริมาณเน้นการจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน ครอบคลุมระยะก่อนเก็บเกี่ยว ระยะเก็บเกี่ยว และระยะหลังเก็บเกี่ยวในทิศทางเดียวกัน

         นอกจากนี้ คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2564 ได้เห็นชอบแผนการบริหารจัดการผลผลิตมังคุดในฤดูดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จำนวน 155,614 ตัน โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 พบว่า มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จำนวน 72,643.73 ตัน คิดเป็นร้อยละ 46.68 และยังมีปริมาณมังคุดที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว จำนวน 82,970.27 ตัน คิดเป็นร้อยละ 53.32 โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมจะมีมังคุดออกกระจุกตัวในปริมาณมาก (Peak) ประมาณ 60,000 ตัน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดแนวทางการกระจายผลผลิตมังคุด 4 แนวทาง ได้แก่ 1) กลไกตลาดปกติ จำนวน 20,000 ตัน 2) การกระจายผลผลิต จำนวน 40,000 ตัน ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และภาคเอกชน โดยมอบหมายให้ คพจ. ต้นทาง 14 จังหวัด บริหารจัดการผลผลิตอย่างเร่งด่วนโดยมีพาณิชย์จังหวัดในฐานะเลขานุการ เป็น “แม่แรง” สำคัญที่จะประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานข้างต้น 3) ส่งเสริมให้มีการจัดการผลผลิตต่อเนื่อง เช่น การแปรรูปมังคุดเพื่อเพิ่มมูลค่า และ 4) จัดทำแคมเปญ “เกษตรกรแฮปปี้” ภายใต้แนวคิด “คนกินยิ้มได้ เกษตรกรไทยแฮปปี้” เพื่อเป็นการช่วยกระจายสินค้ามังคุดภาคใต้ที่กำลังออกสู่ตลาดจำนวนมากออกจากแหล่งผลิต และเป็นการช่วยให้เกษตรกรไทยร่วมฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปได้ด้วยกัน โดยเปิดจำหน่ายผลผลิตมังคุดแบบส่งให้ถึงบ้าน (Delivery) เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2564 ซึ่งผู้สนใจทั่วประเทศสามารถสั่งซื้อมังคุดได้ในราคา 4 กิโลกรัม 100 บาท สำหรับมังคุดคละเกรด คุณภาพดี สดอร่อยจากภาคใต้ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายหน่วยงาน เช่น บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด, บริษัท ไปรยณีย์ไทย, สมาคมขนส่งโลจิสติกส์, บริษัทแกร็บ และร้านธงฟ้า โดยใช้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 และเซ็นทรัล เวสต์เกต เป็นจุด Drop off เพื่อกระจายสินค้าจากภาคใต้ ภายใต้มาตรการควบคุมโรคของ ศบค.