ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจฐานรากเปิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภายใต้แนวทางท่องเที่ยวเกษตรตามวิถีชีวิตใหม่ New Normal ป้องกันการแพร่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับ กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งมีกองขยายพันธุ์พืชเป็นหน่วยให้บริการในด้านการผลิต ขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดี เพื่อสนับสนุนภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรและจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่ต้องการ สอดคล้องกับภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตร รวมทั้งมีการฝึกอาชีพ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และให้บริการทางการเกษตรให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ และเพื่อให้การให้บริการของกองขยายพันธุ์พืชและศูนย์ขยายพันธุ์พืชซึ่งตั้งกระจายอยู่ในส่วนภูมิภาคได้เป็นที่รู้จักของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น จึงสนับสนุนให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการจัดกิจกรรมจุดบริการพืชพันธุ์ DOAE ขึ้น
ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดกิจกรรมจุดบริการพืชพันธุ์ DOAE ขึ้น เพื่อมุ่งเน้นสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ “พืชพันธุ์ดีต้องที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร” โดยกิจกรรมประกอบด้วย สถานีการเรียนรู้ สถานีการจำหน่ายพันธุ์พืช และสถานีการท่องเที่ยว/เช็คอิน ซึ่งได้มีการปรับรูปแบบกิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งการจัดกิจกรรมจุดบริการพืชพันธุ์ดีโดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ มีรูปแบบการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ของแต่ละพื้นที่ ช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 ปัจจุบันแต่ละศูนย์พร้อมต้อนรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาดูงานแล้ว โดยเปิดรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมศูนย์ละ 200 ราย รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,000 ราย ตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย
1) สถานีการเรียนรู้ เน้นการให้ความรู้ทางด้านวิชาการในการผลิตและขยายพันธุ์พืชทั้ง 4 สายการผลิต ได้แก่ สายการผลิตต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ และสายการผลิตพันธุ์พืชจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมไปถึงพืชเด่นหรือพืชที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ และแปลงตัวอย่าง เช่น การปลูกผักยกแคร่ การเพาะเลี้ยงแหนแดง เป็นต้น
2) สถานีการจำหน่ายพืชพันธุ์ดี เน้นการจำหน่ายพืชพันธุ์ดีจากโครงการตามระเบียบของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผลผลิตจากแปลงแม่พันธุ์หรือผลพลอยได้จากการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีพืชพันธุ์ดีที่เป็นอัตลักษณ์ของศูนย์ขยายพันธุ์พืชพร้อมให้บริการ ดังนี้
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จังหวัดชลบุรี พร้อมจำหน่าย ต้นพันธุ์กล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง พร้อมจำหน่าย ต้นพันธุ์พริกเดือยไก่
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา พร้อมจำหน่าย ต้นพันธุ์มะขามเทศเพชรโนนไทย และต้นพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมจำหน่าย ต้นพันธุ์ไผ่กิมซุง
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมจำหน่าย ต้นพันธุ์ไผ่หม่าจู
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก พร้อมจำหน่าย ต้นพันธุ์มะนาว และไม้ดอกไม้ประดับ
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม พร้อมจำหน่าย ต้นพันธุ์กล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และต้นมะละกอพันธุ์ครั่ง
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดลำพูน พร้อมจำหน่าย ต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รีจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมจำหน่าย ต้นพันธุ์หน่อไม่ฝรั่งจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และไม้ประดับ เช่น สับปะรดสี กระบองเพชร
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี พร้อมจำหน่าย ต้นพันธุ์กล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และต้นพันธุ์หน่อไม่ฝรั่งจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
3) สถานีการท่องเที่ยว/เช็คอิน จัดให้มีจุดพักผ่อนหย่อนใจรวมทั้งไม้ดอกไม้ประดับตามฤดูกาล เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว
นายเข้มแข็ง กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าว จะช่วยประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของศูนย์ขยายพันธุ์พืชให้เป็นที่รู้จักของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ในการส่งเสริมการใช้พืชพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตามแนวคิด “พืชพันธุ์ดีต้องที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร” ตลอดจนเป็นศูนย์กลางรวบรวมการให้บริการงานตามภารกิจของศูนย์ขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตรต่อไป