นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายในการส่งเสริมสตรีในภาคการเกษตรให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านการเกษตรมาโดยตลอด รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรหญิงจำนวนไม่น้อยพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรและเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ที่สามารถเป็นต้นแบบในการประกอบอาชีพการเกษตรของชุมชนและเกษตรกรรายอื่นต่อไปได้ ในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมมือกับบริษัท ฟอร์ด ประเทศไทย เดินหน้าขับเคลื่อนเกษตรกรยุค 4.0 ในโครงการ “ฟอร์ดเติมฝันเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่ (Ford Moves Her Business)” เชิญชวนเกษตรกรหญิงที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยส่งคลิปวิดีโอของตนเองเข้าประกวด ในหัวข้อ “เกษตรสร้างสรรค์สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่” บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำการเกษตรของตนเอง นำเสนอแนวคิดในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ พร้อมแนวทางการพัฒนาอาชีพเกษตรของตนให้ประสบความสำเร็จและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางปนิดา มูลนานัด เกษตรกรเจ้าของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย จ.เพชรบุรี รับทุนสนับสนุนมูลค่า 100,000 บาท และสิทธิพิเศษในการทดลองขับรถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นใหม่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
รางวัลรองชนะเลิศ จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ นางสาวปนัดดา กังวล เกษตรกรเจ้าของไร่อ้อยและสับปะรด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และนางสาวยอดหญิง พรชัยสิทธิ์ เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม จ.ฉะเชิงเทรา รับทุนสนับสนุนมูลค่ารางวัลละ 30,000 บาท
และรางวัลชมเชย จำนวน 8 รางวัล ได้แก่ นางสาวจณิกาญจน์ รัชภูมิพิพัฒน์ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดสีทองระยอง จ.ระยอง นางสาวไพลิน นามวิชา เกษตรกรเจ้าของฟาร์มเห็ดและสวนยาง จ.ศรีษะเกษ นางสาวนันทพร สุขสำราญ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดทับทิมราชินี จ.กำแพงเพชร นางสาวศุภลักษณ์ สาลีเกิด เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนดินภูเขาไฟ จ.ศรีษะเกษ นางสาวนิลเนตร มูลศรีนวล เกษตรกรเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงหนอนไหม จ.พะเยา นางสาวธัญญารัตน์ รัตนเสนเจริญ เกษตรกรเจ้าของสวนหม่อน จ.พะเยา นางสาวโสภา ปัญญาแสง เกษตรกรเจ้าของสวนไผ่ จ.อุดรธานี และนางสาวอโณชา จี๋คีรี เกษตรกรเจ้าของฟาร์มผึ้งไร้เหล็กใน จ.นราธิวาส รับทุนสนับสนุนมูลค่ารางวัลละ 5,000 บาท
ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่ที่ชนะการประกวดในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตร โดยนำความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมเวิร์คช็อปอบรมการพัฒนาธุรกิจจากการเข้าร่วมโครงการไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจของตนเองโดยใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เกษตรกรอื่น ๆ ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมส่งเสริมการเติบโตของภาคการเกษตรอันเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนได้ต่อไป