ปัจจุบันพืชสมุนไพรไทยมีอัตราการขยายตัวของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น และยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยสมุนไพรที่กำลังได้รับความสนใจ นอกจากฟ้าทะลายโจรในขณะนี้ คือ “กระชาย” ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรจัดอยู่ในพืชวงศ์เดียวกับ ขิง (ZINGIBERACEAE) เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ้มสั้น แตกหน่อได้เช่นเดียวกับขิง รูปทรงกระบอกหรือรูปไข่ค่อนข้างยาวปลายเรียวแหลมออกเป็นกระจุก มีผิวสีน้ำตาลอ่อนเนื้อในสีเหลืองมีกลิ่นข่า และขมิ้น รากอวบหอมเฉพาะตัว ใช้เหง้าเป็นส่วนขยายพันธุ์ และรากเป็นส่วนที่ใช้บริโภคมีสรรพคุณเป็นทั้งอาหารและยาสมุนไพร
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับงานด้านการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพร เพื่อไว้ใช้เองในครัวเรือน และจำหน่ายตามแนวทางตลาดนำการผลิต กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรด้านพืช มีวิธีการปลูกกระชายมาแนะนำ ดังนี้
การเตรียมพันธุ์ เกษตรกรควรเลือกเหง้ากระชายที่มีตาสมบูรณ์ และปราศจากโรคและแมลง มีอายุตั้งแต่ 10 เดือนขึ้นไป โดยนำเหง้ามาแบ่งส่วนตัดแต่งให้เหลือรากติดลำต้นประมาณ 2 ราก และควรมีตาอย่างน้อย 3 – 5 ตา ก่อนปลูกควรแช่หัวพันธุ์ด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อราและสารฆ่าแมลงที่ป้องกันแมลงในดิน แช่ไว้นานประมาณ 30 นาที ซึ่งการปลูกกระชาย 1 ไร่ จะใช้หัวพันธุ์ประมาณ 400 กิโลกรัม
การเตรียมดิน กระชายสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี เกษตรกรต้องเตรียมดินโดยไถพลิกหน้าดินให้ลึกอย่างน้อย 25-30 เซนติเมตร เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอกับการแทงรากของกระชาย เนื่องจากหากดินในบริเวณตุ้มของกระชายแข็ง จะทำให้ตุ้มเจริญเติบโตลงไปในดินไม่ได้ ส่งผลให้ตุ้มหรือรากสั้น จากนั้นให้ตากดินไว้ประมาณ 7 วัน และไถพรวนดินให้เป็นก้อนที่เล็กลง ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกปรับปรุงบำรุงดิน และพรวนดิน ยกร่องแปลงปลูกให้สูงอย่างน้อย 50 เซนติเมตร เพราะเมื่อฝนตก น้ำฝนจะชะล้างทำให้ร่องต่ำลง และควรย่อยดินบริเวณหลังร่องให้ละเอียดและเกลี่ยให้ราบแบน ไม่ควรให้เป็นสัน
การปลูก ควรใช้ส่วนเหง้าที่ตากแห้งพร้อมปลูก ซึ่งจะมีตาแตกออกมาเป็นยอดเล็กน้อย ช่วงระยะเวลาที่แนะนำให้ปลูกคือ ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนของทุกๆ ปี โดยฝังเหง้าลึกจากผิวดิน 1-2 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูก 10×15 เซนติเมตร จะได้ผลผลิตสูง หรือระยะ 25×15 เซนติเมตร จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี หากปลูกในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคเน่า เกษตรกรควรอบดินดินเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ด้วยปุ๋ยยูเรียผสมปูนขาว อัตราส่วน 1:10 คลุกให้เข้ากับดินรดน้ำ และตบดินให้แน่น ทิ้งไว้ 7 วัน
การให้ปุ๋ย ก่อนปลูกให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยขี้ไก่เก่า หลุมละ 200 กรัม และคลุมแปลงปลูกด้วยฟางข้าวหนาประมาณ 2 นิ้ว เพื่อป้องกันการงอกของวัชพืชและยังช่วยรักษาความชื้นในดิน หลังจากปลูกเสร็จรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นกระชายงอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เกษตรกรควรรีบกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ ในแต่ละพื้นที่อาจมีการใส่ปุ๋ยในที่ปริมาณแตกต่างกัน ขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของดินปลูก และควรใส่ปุ๋ยตามความต้องการของกระชาย เพื่อให้กระชายแข็งแรง และช่วยลดต้นทุน นอกจากนี้ การใส่ปุ๋ยเคมีให้กับต้นกระชายมากๆ จะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ต้นกระชายเน่าตายได้
การให้น้ำ ควรให้น้ำกระชายอย่างสม่ำเสมอ ยกเว้นในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกต่อเนื่องกัน สำหรับช่วงฤดูแล้งควรให้น้ำ 2 – 3 วัน/ครั้ง และเมื่อกระชายแตกยอดแล้วควรให้น้ำเวลาเย็น เพราะหากให้เวลาเช้า หรือกลางวันอาจทำให้ใบไหม้ได้
การเก็บเกี่ยว กระชายสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 5-6 เดือน จนถึง 10-12 เดือน แต่ช่วงอายุ 8-9 เดือนจะให้สารสำคัญสูงสุด ควรเก็บเกี่ยวโดยใช้มือถอน หรือจอบขุด โดยการขุดกระชายแต่ละครั้ง ควรต้องขุดในขณะที่ดินมีความชื้น ก่อนขุดถ้าดินแห้งให้รดน้ำก่อนเพื่อให้ดินนุ่ม จะช่วยลดความเสียหายของรากกระชายไม่ให้หักหรือขาดได้ กรณีที่กระชายมีอายุมากยังไม่เก็บเกี่ยว ใบของกระชายจะเริ่มเหี่ยว เหลือง ลำต้นแห้งตาย ในระยะนี้ไม่ต้องให้น้ำ เพราะจะทำให้กระชายงอก หากต้องการขยายช่วงเวลาเก็บเกี่ยวให้นานขึ้นหรือไว้ทำพันธุ์จะต้องคลุมฟางและรดน้ำเป็นครั้งคราวเพื่อรักษาความชื้นของดินให้เหง้าและรากกระชายไม่ฝ่อในช่วงหน้าแล้ง
ทั้งนี้ เกษตรกรควรระมัดระวัง โรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างโรคเน่า กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจ ตรวจแปลงปลูกกระชายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อตรวจพบว่า ค่าความเป็นกรด-ด่างของดินมีสภาพความเป็นกรดสูงจะต้องรีบแก้ไขด้วยการใส่ปูนขาวในอัตรา 200-300 กิโลกรัมต่อไร่ โดยหว่านรอบโคนต้น หรือใส่ในช่วงของการเตรียมดิน นอกจากนี้ การจุ่มเหง้ากระชายด้วยสารป้องกันและกำจัดเชื้อราก่อนปลูก สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคเน่าได้