นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำการเกษตรต้องประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปัญหาผลผลิตเสียหายจากโรคและแมลงศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีนโยบายสนับสนุนให้ทุกพื้นที่มีการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ขึ้น และส่งเสริมให้มีการขยายผลการดำเนินงานของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ทำการเกษตร ปัจจุบันมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,928 ศูนย์ ในพื้นที่ 77 จังหวัด เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรที่มีความต้องการ และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค และแมลงศัตรูพืชด้วยตนเอง โดยเน้นการใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แทนการใช้สารเคมีแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีต้นทุนสูงและการใช้สารเคมีไม่ถูกวิธี นำไปสู่ผลตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีการจัดการศัตรูพืชแบบ IPM นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงเป็นมิตรต่อระบบนิเวศทางการเกษตรด้วย และเพื่อเป็นการสนับสนุนการทำการเกษตรของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการผลิตขยายชีวภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศัตรูพืชในชุมชน ปี 2564 ขึ้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการผลิตขยายชีวภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศัตรูพืชในชุมชน ปี 2564 เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นจากผลการสำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ ผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) มากกว่า 1,200ศูนย์ ในพื้นที่ 69 จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานการผลิต และส่งเสริมการผลิตและการใช้ชีวภัณฑ์ ทดแทนการใช้สารเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิตแก่ ศจช. และเพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตขยายชีวภัณฑ์ สำหรับนำไปใช้ฟื้นฟูพืชในพื้นที่เกษตรทั่วไป และพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ การระบาดของโรค และแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ดำเนินการผลิตและสนับสนุนหัวเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์ และพ่อแม่พันธุ์ศัตรูธรรมชาติ ให้แก่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จำนวน 9 ศูนย์ ทั่วประเทศ เพื่อนำไปผลิตขยาย เพิ่มปริมาณการใช้ในพื้นที่การเกษตรต่อไป รวมทั้งสนับสนุนหัวเชื้อจุลินทรีย์ชั้นขยาย พ่อแม่พันธุ์ศัตรูธรรมชาติ และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตขยายแก่ ศจช. เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพ และมีความพร้อม และเป็นศูนย์กลางในการผลิตขยายชีวภัณฑ์หลากหลายชนิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการลดปริมาณการระบาดของศัตรูพืช สามารถแก้ไขปัญหาศัตรูพืชให้กับเกษตรกรและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป
************************
ประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร : นาฏสรวง ข่าว/ สิงหาคม 2564
ที่มา: กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย