กรมส่งเสริมการเกษตรปั้นช่างเกษตรท้องถิ่น ปี 64 เสริมทักษะด้วยหลักสูตรเน้นหนัก ในการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรอย่างถูกต้อง

            กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ประจำปี2564 ด้วยหลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่นหลักสูตรเน้นหนัก ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ปีงบประมาณ 2564 โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาความรู้ ทักษะ และเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร เพื่อให้บุคลากรในระดับท้องถิ่นมีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะทางเทคนิคอย่างมีประสิทธิภาพ

            นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การทำการเกษตรในปัจจุบันมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาทดแทนแรงงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา สามารถลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และเพิ่มรายได้สุทธิให้กับเกษตรกรมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรมีการจัดอบรมสร้างช่างเกษตรประจำท้องถิ่น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทำงานของเครื่องยนต์ที่ถูกต้อง สำหรับในปี 2564 ได้ดำเนินกิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรในระดับท้องถิ่นด้วยหลักสูตร ช่างเกษตรท้องถิ่นหลักสูตรเน้นหนัก ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ปีงบประมาณ 2564 มีเกษตกรเข้าอบรมแล้วจำนวน 400 ราย

            นายสุทัศน์ พะยอม เป็นหนึ่งในช่างเกษตรท้องถิ่นที่ผ่านการอบรมหลักสูตรเน้นหนัก จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2564 เปิดเผยว่า ปัจจุบันประกอบอาชีพทำนาในพื้นที่แปลงใหญ่ข้าวตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย แต่มีความสนใจด้านงานช่าง งานซ่อมแซมเครื่องยนต์การเกษตร เนื่องจากอุปกรณ์และเครื่องยนต์การเกษตรที่ใช้งานอยู่ จำเป็นต้องซ่อมแซมและบำรุงรักษา ซึ่งหากนำไปให้ช่างทำการซ่อมแซม ต้องมีค่าใช้จ่าย 500-1,000 บาทต่อครั้ง เมื่อกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดรับสมัครเข้าอบรมหลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่น จึงสนใจสมัครเข้าไปอบรม ในหลักสูตร ช่างเกษตรท้องถิ่นหลักสูตรเน้นหนัก ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ปี2564 ซึ่งดำเนินการจัดฝึกอบรมโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดลพบุรี ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 6-9 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เพราะต้องการที่จะพัฒนาตนเอง ให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถในด้านการตรวจเช็ค ซ่อมแซม และบำรุงรักษาเครื่องยนต์ได้

            ผลที่ได้จากการฝึกอบรม ทำให้รู้ถึงหลักการทำงานของเครื่องยนต์ วิธีถอดประกอบเครื่องยนต์ที่ถูกต้อง และได้นำความรู้มาซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรของตนเอง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการที่จะต้องนำไปให้ช่างทำการซ่อมแซม นอกจากนี้ ยังสามารถให้บริการซ่อมแซมเครื่องยนต์ เครื่องจักรกลทางการเกษตรให้เกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ข้าวตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดยเปิดเป็นอู่เล็กๆ ที่บ้านของตนเอง ซึ่งจะมีเกษตรกรนำอุปกรณ์และเครื่องยนต์เกษตรมาให้ซ่อมแซมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีรายได้เสริมจากการให้บริการซ่อมแซมเครื่องยนต์ เครื่องจักรกลทางการเกษตรถึงประมาณเดือนละ 1,500 – 2,000 บาทต่อเดือน

            “การทำเกษตรในยุคปัจจุบัน มีการใช้เครื่องจักรกลและเครื่องยนต์เกษตรเพื่อลดแรงงานคน จึงมีความจำเป็นที่เกษตรกรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เกษตร เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งหากไม่มีความรู้พื้นฐานด้านช่างอยู่เลย ก็จะต้องจ้างทุกครั้งไป ซึ่งจะเป็นต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง การที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการช่างเกษตรท้องถิ่นขึ้นมา เป็นเรื่องที่ดีมาก เกษตรกรจะได้มีทักษะในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์และเครื่องยนต์ทางการเกษตรของตัวเอง และยังสามารถนำองค์ความรู้มาสร้างรายได้เสริมได้อีกทางหนึ่งด้วย และอยากเสนอให้กรมส่งเสริมการเกษตรเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ประเภทเบนซินเพิ่มเติม เพราะเครื่องยนต์ทางการเกษตรของเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องเบนซิน เช่น เครื่องพ่นยา เครื่องหว่านข้าว เป็นต้น” นายสุทัศน์ กล่าวทิ้งท้าย