กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เดินหน้าโครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ “ระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ Handy Sense” เปิดอบรมต่อยอดพัฒนาความรู้และทักษะบุคลากรด้านการเกษตรอัจฉริยะผ่านระบบออนไลน์
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ “ระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ Handy Sense” จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้ ควบคู่กับการทำแปลงเรียนรู้และการสร้างวิทยากรด้านเกษตรอัจฉริยะ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการขยายผลนำไปสู่การใช้งานจริงของเกษตรกร โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะบุคลากรด้านการเกษตรอัจฉริยะ โดยใช้นวัตกรรมแบบเปิด Handy Sense แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 การใช้งานระบบเกษตรอัจฉริยะ ระดับที่ 2 การติดตั้ง การใช้งาน การดูแลรักษา การประเมินความเสียหายอุปกรณ์และการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นระบบเกษตรอัจฉริยะ และ ระดับที่ 3 การเขียนโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์และการปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้โปรแกรมตามความต้องการของการดำเนินงานด้านการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขับเคลื่อนโครงการโดยจัดการฝึกอบรม ระดับที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ “การใช้งานระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยใช้นวัตกรรมแบบเปิด HandySense” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาวิทยากรด้านการเกษตรอัจฉริยะของกรมส่งเสริมการเกษตร ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดเป้าหมายของการติดตั้งระบบเกษตรอัจฉริยะ Handy Sense จำนวน 10 จุด หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการเกษตรอัจฉริยะ ตลอดจนตัวแทนเกษตรกรต้นแบบศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์เครือข่าย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการติดตั้งระบบเกษตรอัจฉริยะ Handy Sense ในปี 2564 จำนวน 6 ศูนย์ รวมจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งสิ้นจำนวน 193 คน
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า สำหรับการฝึกอบรมใน ระดับที่ 2 และ ระดับที่ 3 จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2565 กำหนดเริ่มต้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อสานต่อการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่สู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรคาดหวังว่าการอบรมนี้จะช่วยสร้างเจ้าหน้าที่ให้รู้เท่าทันการเกษตรสมัยใหม่ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกร ตลอดจนเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาต่อยอดการเกษตรอัจฉริยะให้เกิดประโยชน์ในแปลงของตนเองได้อย่างเหมาะสมและขยายผลสู่ชุมชน ทำให้เกิดพลังการขับเคลื่อนการเกษตรได้อย่างยั่งยืนต่อไป