นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือที่เรียกว่า อีสเทิร์นซีบอร์ด มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 จังหวัด ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีแผนเชื่อมโยงและนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นรูปธรรม และยั่งยืนในทุกมิติ รวมทั้งแผนการพัฒนาการเกษตรคือหนึ่งในแผนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ภายใต้วิสัยทัศน์ ต้นแบบการพัฒนาด้านการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการเกษตรในการเพิ่มผลิตภาพและเพิ่มการเข้าถึงด้วยตลาดสินค้ามูลค่าสูง 5 คลัสเตอร์เป้าหมายที่มีศักยภาพ คือ ผลไม้ พืชสมุนไพร ประมง พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ และสินค้าเกษตรคุณภาพสูง ซึ่งในส่วนของคลัสเตอร์ผลไม้นั้นมีทิศทางการขับเคลื่อนให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2570 โดย อีอีซีจะเป็นพื้นที่ต้นแบบสามารถยกระดับรายได้เกษตรกรอย่างน้อยร้อยละ 20
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักของคลัสเตอร์ผลไม้ตามมติที่ประชุมของคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พิจารณาแผนงาน/โครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ จึงได้มีการจัดประชุมบูรณาการโครงการสำคัญในคลัสเตอร์ผลไม้ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผลไม้อัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom) เพื่อร่วมกันกำหนดกรอบแนวคิดการพัฒนาผลไม้อัตลักษณ์พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกตลอดห่วงโซ่คุณค่า ดำเนินการในแหล่งผลิตไม้ผลอัตลักษณ์ มีเป้าหมาย คือ เกษตรกร 600 ราย แปลงต้นแบบ 150 แปลง เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพผลไม้อัตลักษณ์พื้นถิ่นที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพสามารถตรวจสอบได้ และอีอีซีกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบในการวางแผนกระบวนการผลิตแบบตลาดนำการผลิต
ทั้งนี้ ผลไม้ไทยมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกไม้ผลเป็นอันดับ 6 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 ต่อปี มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย ผลไม้ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มะม่วง มังคุด เงาะ ส่วนผลไม้ที่มีศักยภาพในอีอีซี ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะม่วง มะพร้าวอ่อน และขนุน ซึ่งต้องเข้าไปส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำด้วยการยกระดับผลิตภาพการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ กลางน้ำด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และปลายน้ำด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการตลาด การขนส่ง และการจำหน่ายสินค้าการเกษตร (E-Commerce) ต่อไป